กฟน. พร้อมรับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 1.7 ล้านคัน ในปี 2570

Loading

สอวช. โชว์ผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกทม.” ตอบโจทย์นโยบายนายกชัชชาติในด้าน “เดินทางดี-สิ่งแวดล้อมดี” การไฟฟ้านครหลวง ชี้ ในปี 2570 เตรียมพร้อมรับได้ถึง 1.7 ล้าน คัน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเสวนา “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง : มิติใหม่ของกรุงเทพมหานคร (EV Conversion :  Beyond BMA)” นำผลงานวิจัยรถบรรทุก 10 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง รถบรรทุก 6 ล้อไฟฟ้าดัดแปลง รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลง และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด

โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการดัดแปลงยานยนต์ของหน่วยสังกัดกรุงเทพมหานครให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และจัดทำเป็นเสนอแนะเชิงนโยบาย พัฒนาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาและตัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ตามนโยบายของประเทศ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี และมีความสอดคล้องกับนโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (5 ดี ประกอบด้วย 1. บริหารจัดการดี 2. เดินทางดี 3. สิ่งแวดล้อมดี 4. เศรษฐกิจดี และ 5. สุขภาพดี)

กรุงเทพมหานครมีโครงการทดลองทำรถต้นแบบดัดแปลงที่เขตสาทร จำนวน 10 คัน ซึ่งรถดังกล่าวจะสามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งได้ ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะไม่ซื้อรถยนต์ใหม่ โดยจะนำรถเก่าที่มีอายุเกินกว่า 7 ปี และมีสภาพที่ดี ปรับเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงในอนาคตโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร สำนักพัฒนาสังคม จะได้จัดหลักสูตรเพื่ออบรมการดัดแปลงรถยนต์เพื่อฝึกอบรมให้แก่ประชาชนผู้สนใจนำไปต่อยอด เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี และทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่

นิจกาล งามวงศ์ ตัวแทนของ บนส. 17 กล่าวว่า ปัจจุบันการพิจารณานำเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์มาใช้งาน จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่ายานยนต์ไฟฟ้าใหม่ และสามารถออกแบบให้มีประสิทธิภาพการใช้งานที่สูงใกล้เคียงกับยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ มาใช้กับกรุงเทพมหานคร

ยานยนต์ของกรุงเทพมหานคร มีความไม่หลากหลายและมีจำนวนมากพอ ที่จะริเริ่มเป็นเมืองต้นแบบ ซึ่งสามารถจัดลำดับความสำคัญโดยเลือกรถที่ใช้เชื้อเพลิงมากมีเส้นทางและระยะทางในการวิ่งที่แน่นอนมาดำเนินการก่อน โดยแนวทางในการทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถทำได้โดยการหารือกับหน่วยงานรัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในการดำเนินงานร่วมกัน

การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองคาร์บอนต่ำและเมืองที่น่าอยู่ สามารถทำได้ดังนี้

  • การลดมลพิษด้าน CO2 และ PM2.5 จากการใช้งานยานพาหนะ

การซื้อใหม่ การเช่า การติดตัวกรองไอเสีย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การดัดแปลงยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้เป็นระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ซึ่งมองว่าทางเลือกในการดัดแปลงนี้จะทำให้สามารถนำตัวรถที่มีอายุ 7-8 ปี ที่ยังมี Chassis ที่ยังดีอยู่ มาดัดแปลงให้เป็นไฟฟ้าได้ ซึ่งได้กำลังมีการศึกษาแนวทางนี้ในการดูเรื่องความคุ้มค่า การจดทะเบียนให้ใช้งานได้จริง และการสร้างระบบ Ecosystem

  • มุ่งสร้างผู้ประกอบการ สร้าง Know how ให้ผู้ประกอบการไทยให้เป็นเจ้าของ Brand

การสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบ Type test และ Individual test ส่งเสริมให้ ตรอ. พัฒนาความสามารถด้านการทดสอบ Battery การมีเครื่องมือทดสอบของอู่ การผลักดันด้านกฎระเบียบให้สามารถจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง การให้ Incentive ต่างๆ ทั้ง Financial และ Non-Financial

  • การพัฒนาชุด EV Conversion Kit และ Software

พนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ออกแบบและพัฒนาชุด EV Conversion Kit และ Software ขึ้นมาให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็น Modular เพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนเข้ากับรถยี่ห้ออะไรก็ได้ และพร้อมจะ Training ถ่ายทอดความรู้เพื่อการนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพให้กับ SME และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

  • เตรียมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

การไฟฟ้านครหลวง ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าถึง 1.7 ล้านคัน ในปี 2570 และถึง 3.7 ล้านคันในปี 2575 และหลังจาก 2580 จะรองรับปีละอย่างน้อย 800,000 คัน โดยเฉลี่ย

ดังนั้นปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการนั้นจะมีเพียงพอ และทางการไฟฟ้าได้ร่วมพัฒนา รถโดยสารไฟฟ้าดัดแปลงกับทาง สวทช. และภาคเอกชน และมีแผนที่จะ Retrofit, Renovate รถของการไฟฟ้าประเภทต่างๆ เช่น รถที่ให้บริการซ่อมสายไฟ รถปิคอัพ และรถประจำหน่วยงาน เป็นต้น

“เทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นความหวังและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมของคนไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษทางอากาศ และลดปัญหาสุขภาพแล้ว ยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชน และต่อยอดการพัฒนาไปสู่การผลิตในเชิงปริมาณเพื่อให้ราคาสามารถแข่งขันได้และนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้อีกด้วย”

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_innovation/1023779


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210