‘การ์ทเนอร์’ เจาะ 5 เทรนด์ พิทักษ์ ‘ความเป็นส่วนตัว’

Loading

การ์ทเนอร์ เผยว่า ภายในสิ้นปี 2567 ข้อมูลส่วนบุคคลของประชากรทั่วโลกกว่า 75% จะมีอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับความเป็นส่วนตัวที่ทันสมัย

นาเดอร์ เฮเนน รองประธานฝ่ายวิเคราะห์ การ์ทเนอร์ กล่าวว่า วิวัฒนาการของกฎระเบียบเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานด้านความเป็นส่วนตัวของธุรกิจองค์กรมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ความรับผิดชอบขององค์กรเพื่อการดำเนินการตามข้อกำหนดเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อไปถึงการลงทุนทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัย

ตอบโจทย์สังคมดิจิทัลไร้พรมแดน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า งบประมาณประจำปีด้านความเป็นส่วนตัวโดยเฉลี่ยขององค์กรขนาดใหญ่จะสูงกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 โดยมี 5 แนวโน้มด้านความเป็นส่วนตัวที่น่าจับตามอง ประกอบด้วย

ปรับข้อมูลให้เหมาะกับท้องถิ่น (Data Localization) : ในสังคมดิจิทัลที่ไร้พรมแดน การพยายามหาหนทางควบคุมประเทศที่มีข้อมูลอยู่นั้นดูเหมือนจะขัดกับความรู้สึก

ความเสี่ยงในด้านกลยุทธ์ธุรกิจหลายประเทศทำให้เกิดแนวทางใหม่สำหรับการออกแบบและการจัดหาระบบคลาวด์ในทุกรูปแบบบริการ

เนื่องจากผู้นำด้านความปลอดภัยและการจัดการความเสี่ยงต้องเผชิญกับภูมิทัศน์ของกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามภูมิภาคที่แตกต่างกัน ทั้งจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่ปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ

ดูแลด้วยเทคโนโลยี ‘เอไอ’

เทคนิคการประมวลผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นส่วนตัว (Privacy-Enhancing Computation Techniques) : การประมวลผลข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ระบบคลาวด์สาธารณะ และการแชร์ข้อมูลและการวิเคราะห์แบบหลายฝ่าย ได้กลายเป็นพื้นฐานสู่ความสำเร็จขององค์กร

“ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของเครื่องมือวิเคราะห์และสถาปัตยกรรมกำหนดให้ผู้จำหน่ายรวมความสามารถด้านความเป็นส่วนตัวผ่านการออกแบบ”

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 องค์กรขนาดใหญ่ 60% จะใช้เทคนิคการประมวลผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นส่วนตัว (Privacy-Enhancing Computation) อย่างน้อยหนึ่งเทคนิคเพื่อการวิเคราะห์ หรือใช้ในธุรกิจอัจฉริยะ หรือเพื่อการประมวลผลบนคลาวด์

การกำกับดูแลด้วยเทคโนโลยีเอไอ (AI Governance) : ความสามารถด้านเอไอใช้เพื่อติดตามพฤติกรรมของพนักงาน ประเมินความรู้สึกของผู้บริโภค และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความ “อัจฉริยะ” สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกันข้อมูลที่ป้อนลงในโมเดลการเรียนรู้เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในอนาคต

เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ประสบการณ์ความเป็นส่วนตัวแบบรวมศูนย์ UX (Centralized Privacy UX) : ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสำหรับสิทธิของตนในเรื่องต่างๆ และความคาดหวังที่มากขึ้นเกี่ยวกับความโปร่งใสจะผลักดันความต้องการประสบการณ์ความเป็นส่วนตัวแบบรวมศูนย์ UX ของผู้ใช้งาน

องค์กรที่มองการณ์ไกลและเข้าใจถึงข้อดีของการนำ UX ด้านความเป็นส่วนตัวมารวมกันไว้ในพอร์ทัลแบบบริการตนเองที่เดียวจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่องค์ประกอบสำคัญๆ ซึ่งก็คือ ลูกค้าและพนักงาน ช่วยประหยัดเวลา รวมถึงค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก

ภายในปี 2566 การ์ทเนอร์คาดว่า 30% ขององค์กรที่ให้บริการโดยตรงกับผู้บริโภคจะเสนอพอร์ทัลความโปร่งใสแบบบริการตนเองเพื่อจัดเตรียมการตั้งค่าและการจัดการความยินยอม

จากรีโมทกลายเป็น “ทุกอย่างต้องไฮบริด” (Remote Becomes “Hybrid Everything”) : รองรับรูปแบบการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมและการใช้ชีวิตแบบไฮบริด

ปัจจุบัน การใช้ชีวิตแบบ Work-Life Balance เพิ่มขึ้นทั่วทั้งอุตสาหกรรม องค์กรจึงควรใช้แนวทางความเป็นส่วนตัวที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางและควรใช้ข้อมูลเพื่อนำมาตรวจสอบให้น้อยที่สุด

โดยต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ใช้ปรับปรุงประสบการณ์ของพนักงาน โดยขจัดแรงต้านที่ไม่จำเป็น หรือลดความเสี่ยงจากภาวะหมดไฟในการทำงาน

“องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับ 5 แนวโน้มด้านความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก”

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1013400


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210