SOCIAL BUREAU โทเคนปราบอาชญากรรมไซเบอร์ สืบ แจ้ง ได้เงิน

Loading

แพลตฟอร์มโซเชียลบูโร คือ การนำเทคโนโลยี Blockchain และ AI เข้ามาร่วมกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อรับแจ้งข้อมูลการถูกฉ้อโกง โดยผู้ใช้งานสามารถเป็นตำรวจเองได้ในโลกไซเบอร์ และสามารถเช็คประวัติรายชื่อผู้ต้องสงสัยก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน

เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้อาชญากรมีช่องทางในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์มากขึ้น เพราะปัจจุบันอาชญากรรมในโลกไซเบอร์สามารถเข้าถึงชีวิตผู้คนได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการถูกแฮกเข้าระบบอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ การถูกหลอกให้เข้ารหัสทางการเงิน การโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปเปิดบัญชี การสูญเสียเงินจากการซื้อของออนไลน์ การถูกหลอกจากอาชญากรรมข้ามชาติ การหลอกลวงผ่านการใช้สกุลเงินดิจิทัล แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ไวรัสระบบคอมพิวเตอร์ หรือรวมไปถึง Ransomware มัลแวร์ที่ทำการเข้ารหัสหรือล็อกไฟล์เหยื่อเพื่อเรียกเงินค่าไถ่ในการปลดล็อคในระบบหลังบ้านของบริษัทต่าง ๆ

จากข้อมูลกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ปอท.ได้เปิดเผยตัวเลขการรับแจ้งความจากประชาชนย้อนหลัง 4 ปีจากคดี CyberCrime และแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปี 2565 ไว้ว่า 3 อันดับแรกที่มีผู้เสียหายมาแจ้งมากที่สุดได้แก่ “หมิ่นประมาทออนไลน์-แฮกเกอร์- ฉ้อโกงออนไลน์” นอกจากคดีหมิ่นประมาทแล้ว ในอันดับ 2 มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวนกว่า 597 ราย มีความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท และอันดับ 3 การหลอกขายสินค้า/บริการ มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท

จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่มีข้อมูลของอาชญากร เพราะโดยส่วนมากผู้กระทำความผิดมักจะปกปิดที่อยู่ IP Address ทำให้ไม่ให้สามารถตามสืบได้ และผู้กระทำความผิด 1 คน อาจมีเหยื่อที่ถูกหลอกมากกว่า 10 คน

พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ (Founder, Chief Innovation Officer) บริษัท บล็อกเชนไพรมารี่ จำกัด ได้พัฒนา “แพลตฟอร์มโซเชียลบูโร” (Social Bureau) เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถหาความยุติธรรมและความเป็นไปได้ในการกู้คืนทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป แพลตฟอร์มโซเชียลบูโร คือ การนำเทคโนโลยี Blockchain และ AI เข้ามาร่วมกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อรับแจ้งข้อมูล และให้ผู้ใช้สามารถเช็คประวัติรายชื่อผู้ต้องสงสัยก่อนทำธุรกรรมทางการเงิน ว่าชื่อหรือบัญชีนั้นมีประวัติการก่ออาชญากรรมที่ทางชุมชนผู้ใช้งานได้แจ้งไว้หรือไม่ เพื่อสร้างระบบการแก้ปัญหาซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการเดิมที่มีอยู่

การทำงานของ “แพลตฟอร์มโซเชียลบูโร” (Social Bureau) นี้ จะให้ผู้เสียหายได้เข้ามาแจ้งข้อมูลอาชญากรรม โดยผู้แจ้งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญโทเค็นดิจิทัลในชื่อว่า JANDRA (JUTC) เมื่อเสร็จสิ้นรายงานอาชญากรรม จะได้รับเหรียญจากการจัดระดับตามความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้แจ้งไว้ โดยมีชุมชนผู้ใช้งานช่วยตรวจสอบข้อมูลและกดยืนยันหลักฐานว่าผู้แจ้งได้แจ้งข้อมูลตามข้อเท็จจริงหรือไม่ หากมีข้อมูลที่รู้สึกไม่เป็นความจริง หรือมีหลักฐานที่ต้องการโต้แย้ง ผู้โต้แย้งสามารถกดแลกเงินเพื่อวางหลักประกันที่ต้องการโต้แย้งไว้ได้ เมื่อข้อมูลได้รับการตรวจสอบแล้ว หากเป็นการแจ้งข้อมูลเท็จตามที่โต้แย้ง ผู้โต้แย้งก็จะได้รับเงินในส่วนของที่ผู้แจ้งข้อมูลคนแรกจะต้องได้ไป และหากข้อมูลตรงตามผู้แจ้งได้แจ้งไว้แต่แรก จำนวนเงินที่ผู้โต้แย้งวางไว้จะไม่ได้คืน แต่จะถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็น 50% นำไป Coin Burn หรือ การเผาเหรียญ เป็นการนำเหรียญออกจากระบบเพื่อปรับสัดส่วนของเหรียญให้น้อยลง และอีก 50% นำไปใช้ในโครงการ CSR ของบริษัทต่อไป

สิ่งที่น่าสนใจคือประวัติอาชญากรรม รายชื่อผู้ก่อเหตุ จะถูกบันทึกเก็บเป็นประวัติในระบบ ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบรายชื่อ บัญชี ก่อนการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ และมีข้อมูลที่ได้รับรายงานจากผู้ใช้งานทั่วโลกจะถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วย AI ในการระบุตัวอาชญากร หรือหากมีประวัติรายชื่อเป็นผู้ก่อเหตุ ต้องการชดใช้มูลค่าความเสียหายตามที่มีผู้เสียหายได้แจ้งไว้ ก็สามารถทำการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ และประวัติอาชญากรรมที่แจ้งไว้ในระบบก็จะถูกนำออกไป

“แพลตฟอร์มโซเชียลบูโร” (Social Bureau) จะเปิดให้บริการแจ้งข้อมูลได้ในปลายเดือนมกราคม 2565 นี้

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/tech/509301


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210