สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่าควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ยังตกอยู่ในการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 เราจึงอยากจะนำกลับมาย้ำเตือนและลองช่วยกันเช็คลิสต์กันดูว่า ทั้ง 9 ข้อที่สภาพัฒน์ฯ ได้วิเคราะห์ไว้ ขณะนี้มีความคืบหน้าประการใดบ้าง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1 การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ โดยการดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างรวดเร็ว และจัดลำดับความสำคัญโดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและการรักษาความต่อเนื่องของการผลิตในพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการทางสาธารณสุข
2 การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ
3 การดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มเติม
4 การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
5 การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับ ประโยชน์จากการระบาดของโรค การสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของสินค้าไทยควบคู่ ไปกับการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคในพื้นที่ฐานการผลิตสำคัญอย่างเข้มงวด การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญ การให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญๆ เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
6 การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561 –2563 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การขับเคลื่อนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนมาตรการสร้าง ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
7 การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
8 การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการดูแลรายได้เกษตรกร
9 การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวน ในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/04/23/thailand-economy-2021-policy-checklist/