‘การ์ทเนอร์’ จับกระแส ‘6 เทรนด์’ กระทบความมั่นคงไซเบอร์

Loading

การ์ทเนอร์ เผย 6 แนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ที่สำคัญในปี 2567 ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังและคอยขับเคลื่อนแนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ที่สำคัญๆ ในปีนี้

การ์ทเนอร์ เผย 6 แนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ที่สำคัญในปี 2567 โดยระบุว่า Generative AI, ช่องว่างการสื่อสารในทีมบริหาร, พฤติกรรมพนักงานที่ไม่ปลอดภัย, ความเสี่ยงจากบุคคลที่สาม, ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง, รวมถึงแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่ยึดการยืนยันตัวตนเป็นหลัก ล้วนเป็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังและคอยขับเคลื่อนแนวโน้มความมั่นคงไซเบอร์ที่สำคัญๆ ในปีนี้

ริชาร์ด แอดดิสคอตต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า GenAI กำลังสร้างความกังวลใจให้กับผู้บริหารด้านความปลอดภัย ในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ต้องจัดการ ทว่าในอีกทางหนึ่ง เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงซึ่งมอบโอกาสการควบคุมขีดความสามารถเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในระดับปฏิบัติการ

ปีนี้ได้จะเห็นว่าผู้บริหารด้านความปลอดภัยตอบสนองต่อผลกระทบเหล่านี้ โดยนำแนวทางปฏิบัติ ความสามารถเชิงเทคนิค และการปฏิรูปโครงสร้างมาใช้ภายในโปรแกรมความปลอดภัยของตน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงความยืดหยุ่นขององค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพฟังก์ชันความปลอดภัยทางไซเบอร์

‘6 เทรนด์’ ความมั่นคงไซเบอร์

เทรนด์ที่ 1: Generative AI ระยะสั้นยังกังขา แต่ระยะยาวคือความหวัง ผู้บริหารจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วของ GenAI เนื่องจากแอปพลิเคชันโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เช่น ChatGPT และ Gemini นั้นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดิสรัปเท่านั้น

สำหรับการใช้ GenAI นั้นควรเกิดขึ้นผ่านความร่วมมือเชิงรุกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการใช้ Disruptive Technology นี้อย่างมีจริยธรรมและตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย เชื่อว่าในระยะยาวยังมีความหวังรออยู่สำหรับเทคโนโลยีนี้

เทรนด์ 2: มาตรวัดที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ความมั่นคงไซเบอร์ เชื่อมช่องว่างการสื่อสารในทีมบริหาร ความถี่และผลกระทบเชิงลบของเหตุความมั่นคงทางไซเบอร์ต่อองค์กรเป็นบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของกลยุทธ์ความมั่นคงทางไซเบอร์ของคณะกรรมการและทีมบริหาร

ดังนั้นมาตรวัดที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ หรือ Outcome-Driven Metrics (ODMs) ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถขีดเส้นแบ่งการลงทุนด้านความมั่นคงไซเบอร์และระดับการป้องกัน

เทรนด์ที่ 3: โปรแกรมวิเคราะห์พฤติกรรมและวัฒนธรรมความปลอดภัยกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากมนุษย์ ผู้บริหารด้านความปลอดภัยตระหนักดีว่าการเปลี่ยนโฟกัสจากการเพิ่มความตระหนักรู้ไปสู่การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

ปี 2570 กว่า 50% ของ CISO ในองค์กรขนาดใหญ่จะนำแนวทางการออกแบบการรักษาความปลอดภัยที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลักมาใช้เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดจากความมั่นคงไซเบอร์ และเพิ่มการควบคุมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

‘ความมั่นคง’ สะเทือน ‘ผลลัพธ์ธุรกิจ’

เทรนด์ที่ 4: การจัดการความเสี่ยงของบุคคลที่สามที่ขับเคลื่อนด้วยความยืดหยุ่นและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ความมั่นคงไซเบอร์จากบุคคลที่สามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งยังสร้างแรงกดดันให้ผู้บริหารหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเลิกใช้แนวปฏิบัติสำหรับการตรวจสอบโดยละเอียดในด้านการลงทุน หรือ Front-Loaded Due Diligence

เทรนด์ที่ 5: ใช้โปรแกรมจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคามต่อเนื่อง Continuous Threat Exposure Management (CTEM) เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างมีระบบที่องค์กรธุรกิจสามารถใช้ประเมินการเข้าถึง เปิดเผย และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและสินทรัพย์ทางกายภาพอย่างต่อเนื่อง

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยตามพื้นฐานของโปรแกรม CTEM จะพบการละเมิดลดลงถึงสองในสาม

เทรนด์ที่ 6: การขยายบทบาทการจัดการการเข้าถึงและระบุตัวตน (Identity & Access Management หรือ IAM) เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ความมั่นคงทางไซเบอร์ เมื่อองค์กรหันมาใช้แนวทางการรักษาความปลอดภัยที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลระบุตัวตนเป็นหลักมากขึ้น การมุ่งเน้นจะเปลี่ยนจากการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายและการควบคุมแบบดั้งเดิมอื่นๆ ไปสู่ Identity & Access Management (IAM) ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และผลลัพธ์ทางธุรกิจ

การ์ทเนอร์เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นสำหรับ IAM ในโปรแกรมความปลอดภัย โดยแนวทางปฏิบัติจะต้องพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบ ทำให้แน่ใจว่าความสามารถของ IAM อยู่ในจุดที่ดีที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1117624


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210