ชี้ 5 เทรนด์ที่ผู้ประกอบการออนไลน์ต้องรู้ ถ้าไม่อยากโดนแพลตฟอร์ม E-commerce กินรวบ!

Loading

ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตแบบพุ่งกระฉูด ส่วนหนึ่งเพราะโควิด-19 เร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการทำงาน การกิน พฤติกรรม แต่หลังจากนี้จะเปลี่ยนไปทิศทางไหนนั้น ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด (Priceza) ชี้ 5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่ผู้ประกอบการต้องรู้ ในงาน CTC2021 Virtual Conference เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด (Priceza)

5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ แบรนด์ทั้งหลายต้องใส่ใจ

เทรนด์ที่ 1
E-commerce Boom creates high competition

ย้อนดูมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของตลาด B2C และ C2C คาดการณ์ไว้ว่า จะเติบโตขึ้น 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาทในปี 2020 จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า ในปี 2020 นั้น

  • จำนวนสินค้าจาก 3 แพลตฟอร์ม Lazada Shopee และ JD CENTRAL มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 32%
  • จำนวนพ่อค้าแม่ค้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวและเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น
  • ส่วนแบ่งการตลาดของจำนวนสินค้าในไทยยังคงเป็นสินค้าจากต่างชาติที่กินส่วนแบ่งกว่า 63% ถึงแม้จำนวนของพ่อค้าแม่ค้าในไทยจะมีมากขึ้นแล้วก็ตาม

“อนาคตของแพลตฟอร์มออนไลน์จะแตกไลน์ให้บริการมากกว่าหนึ่งอย่าง เป็นทั้งร้านค้า ธนาคาร บริการขนส่ง และเอเจนซีโฆษณา เรียกว่าเก็บลูกค้าจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”

“นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งพัฒนาสินค้า เพราะการแข่งขันด้วยราคาไม่อาจสู้สินค้าจากประเทศจีนได้อย่างแน่นอน ดังนั้น คนไทยควรหันมาลงทุนสร้างแบรนด์ไทย ครีเอทีฟสินค้าที่มีเอกลักษณ์และได้คุณภาพมาสู้” ธนาวัฒน์กล่าว

เทรนด์ที่ 2
Direct to Consumer

แบรนด์หันมาสร้างช่องทางขายสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น และจะไม่ขายผ่านช่องทางที่ใช้กระจายสินค้าแบบเดิม

จากข้อมูลของไพรซ์ซ่าพบว่า จำนวนร้านค้า Brand Official Shop ใน Shopee Mall และ Laz Mall มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นกว่า 46%

บ่งบอกว่า แบรนด์ต้องการเชื่อมสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า ลูกค้าก็มั่นใจได้ว่า การซื้อสินค้าโดยตรงจากแบรนด์จะได้ของแท้แน่นอน

เทรนด์ที่ 3
From search base shopping to Discovery-base Shopping

ที่ผ่านมา เมื่อเราต้องการซื้อสินค้าอะไรก็มักจะค้นหาจาก Search Engine คนขายจึงต้องใช้เทคนิคทำให้คนค้นเจอสินค้าของตัวเอง

แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมา เราไม่ต้องค้นหาสินค้าอีกต่อไป เพราะแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าที่เราเข้าไปส่อง เข้าไปเสิร์ช เข้าไปซื้อ เก็บข้อมูลและเรียนรู้สิ่งที่เราสนใจทั้งหมด แล้วมาโผล่บนแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย สุดท้ายก็โดนป้ายยา อุดหนุนสินค้านั้นในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ ไพรซ์ซ่าพบว่า 53% ของออนไลน์ช็อปปิ้งมาจากการที่สินค้าเรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ผู้คนสนใจ และอีก 35% มาจากคนเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าด้วยตัวเอง

เทรนด์ที่ 4
Influencer Commerce

KOL หรือ Key Opinion Leader จะได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้น

จากข้อมูลสถิติของ South China Morning Post 2019 พบว่า 60% ของรูปแบบ Social Marketing ที่มีประสิทธิภาพและช่วยสร้างเม็ดเงินให้แก่ผู้ประกอบการมากที่สุด คือ KOL

เห็นได้จากกรณีศึกษาของประเทศจีนที่แบรนด์สินค้านิยมจ้างดารา นักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงมาโปรโมทสินค้า ไม่ว่าจะผ่าน Live สด หรือบนโซเชียล มีเดียโพสต์ต่างๆ และสร้างยอดขายถล่มทลายให้แก่แบรนด์สินค้านั้นๆ

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ Social Marketing ที่น่าจับตามองในปี 2021

เทรนด์ที่ 5
Convergence of Platform

การขยายตัวของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ หมายความว่า จากจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการเดียว จะขยายตัวให้บริการในด้านอื่นๆ มากขึ้น

จากภาพเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลายๆ แพลตฟอร์มได้ขยายตัวให้บริการตั้งแต่ สื่อ, โฆษณา, อีคอมเมิร์ซ, ธนาคาร ไปจนถึงระบบขนส่ง

ทั้ง 5 ข้อนี้ จะเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งการแข่งขันกันของ 1) แต่ละแพลตฟอร์ม 2) รูปแบบการทำการตลาด 3) การแข่งขันของสินค้าจีนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งหาวิธีพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ตัวเอง เพื่อต่อสู้ในสงครามอีคอมเมิร์ซที่ยังดุเดือดต่อไป

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/25/5-trends-e-commerce-2021/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210