5 เทคโนโลยี พลิกชีวิต – พลิกโอกาสธุรกิจ ปี 2030

Loading

เจาะเทรนด์โลก 5 เทคโนโลยี พลิกชีวิต ปี 2030 หรือ อีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อ เทคโนโลยี AR และ VR ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจ และ ชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่จะมีอะไรมากกว่านั้นอีกหรือไม่?

BOT MAGAZINE โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย 5 เทคโนโลยี น่าจับตามองในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า โดยระบุว่า ขณะนี้ เทคโนโลยี ถูก พัฒนาแบบก้าวกระโดดและมีช่วงเวลาของการพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าลองถอยกลับไปดูเทคโนโลยีช่วงปี 2010 ยุคนั้นเพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี 3G ไปสู่ 4G และเป็นยุคเริ่มต้นของสงครามสมาร์ตโฟนที่เราเห็นกันจนชินตาในทุกวันนี้

แต่ช่วงปี 2020 โลกก็มี 5G ใช้กันแล้ว ซึ่งเร็วกว่า 4G ถึง 100 เท่า เสริมให้ Internet of Things ยิ่งแพร่หลายและแข็งแกร่งมากขึ้น artificial intelligence ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจและชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น เทคโนโลยี AR และ VR ถูกนำมาใช้สร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่ลูกค้า แน่นอนว่าโลกในอนาคตจะยิ่งล้ำหน้ามากกว่านี้ ผ่าน 5 เทคโนโลยีพลิกชีวิตที่น่าจับตามองในปี 2030 ดังต่อไปนี้

ปลูกถ่ายสมองกู้ความจำและเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์

ในอนาคตการปลูกถ่ายสมองจะเป็นมากกว่าการรักษา เว็บไซต์ Future Business Tech คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2030 มนุษย์จะสามารถปลูกถ่ายสมองเทียมโดยการทำสำเนาสมองส่วนเล็ก ๆ เพื่อรักษาส่วนที่เสียหายจากอาการอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง หรือการบาดเจ็บอื่น ๆ รวมถึงช่วยกู้ความจำที่หายไปได้ด้วย นั่นเป็นเพราะสมองเทียมนี้จะเลียนแบบการทำงานของคลื่นเคมีไฟฟ้าในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยทำให้ความจำระยะสั้นกลายเป็นความจำระยะยาว เมื่อเครื่องมือนี้เข้าไปแทนที่สมองส่วนที่เสียหาย มันจะคาดการณ์ว่าสมองส่วนนั้นจะทำงานอะไร และจะส่งคลื่นสมองไปทดแทนส่วนที่เสียหาย คาดว่าช่วงปี 2030-2040 เทคโนโลยีนี้จะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ และเลียนแบบการทำงานของสมองที่ซับซ้อนขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีด้านสมองที่ชื่อว่า Brain-Computer Interface (BCI)[2] ที่เชื่อมต่อคลื่นสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สมองที่ยังดีอยู่ของคนที่เป็นอัมพาตสามารถสั่งการไปยังแขนกลหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน หรือแม้แต่อาจจะควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น คิดให้คอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมา ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่สนใจและลงทุนในเทคโนโลยีนี้ อย่างบริษัท Synchron ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งออกมาประกาศว่าสามารถปลูกถ่ายฝังชิป BCI ทางหลอดเลือดในสมองมนุษย์ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก หลังจากเคยฝังชิปในผู้ป่วยอัมพาตขั้นรุนแรง เพื่อให้สามารถส่งสัญญาณจากสมองผ่านบลูทูท โดยในอนาคตจะมีการพัฒนา BCI ที่ปรับขนาดได้ออกสู่ตลาดด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัท Neuralink ของอีลอน มัสก์ ที่พยายามผลักดันการปลูกถ่ายสมองโดยการฝังชิปให้เป็นมากกว่าแค่การรักษาโรค แต่เข้าสู่ขอบเขตของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคด้วย โดยมุ่งหวังให้สามารถใช้บันทึกและเปิดย้อนหลังความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถอัปโหลดความทรงจำของตัวเองเพื่อสำรองข้อมูลเอาไว้ โดยนักวิจัยเชื่อว่าจะทำสำเร็จในปี 2030 

อย่างไรก็ดี BCI ก็ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน เช่น ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ออกมาจากสมอง หรือความเหลื่อมล้ำที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างคนที่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้

ผลิตอวัยวะมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี 3D Bioprinting

อีก 10 ปีข้างหน้า หากมนุษย์สูญเสียอวัยวะหรือต้องการเปลี่ยนอวัยวะก็ไม่จำเป็นต้องรอรับบริจาคอวัยวะอีกต่อไป เทคโนโลยี 3D bioprinting จะสร้างอวัยวะใหม่ให้ได้ตามต้องการเหมือนในหนังไซไฟที่เราเคยดู เทคโนโลยีนี้เป็นการรวมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ากับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติที่สามารถขึ้นรูปร่างที่ซับซ้อนด้วยหมึกชีวภาพ (bioink) ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ผสมกับเซลล์และเนื้อเยื่อที่มีชีวิต โดยช่วงแรก เริ่มจากการขึ้นรูปเนื้อเยื่อและหลอดเลือดก่อนแล้วพัฒนาเป็นอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ และหัวใจ ล่าสุดนักวิจัยได้ทดลองใส่อวัยวะเทียมจาก bioink ในหนูได้แล้ว และจะเริ่มทดลองกับมนุษย์ต่อไป

เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้านี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต โดยข้อมูลจาก Health Resources and Services Administration (HRSA) ของสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2020 มีผู้ได้รับบริจาคอวัยวะเพื่อปลูกถ่ายเพียง 39,000 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะถึง 17 คนต่อวัน ทำให้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ยังมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่กว่า 107,000 คน เชื่อว่าหลังจากปี 2030 เทคโนโลยีนี้จะสามารถสร้างอวัยวะสำคัญของมนุษย์ได้ถึง 78 ชิ้นส่วนทีเดียว

นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดความสูญเสียและอัตราการตายแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดระยะเวลาการรักษา ค่าใช้จ่าย การนำเข้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

Internet of Senses เปลี่ยนโลกการรับรู้ของมนุษย์ไปอย่างไร้ขีดจำกัด

ในอนาคต โลกเสมือนจริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การมองเห็นและได้ยินเสียงอีกต่อไป แต่จะรวมถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่จะถูกถ่ายทอดผ่านระบบดิจิทัลเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์เสมือนจริงอย่างเต็มรูปแบบ

อินเทอร์เน็ตของประสาทสัมผัส หรือ Internet of Senses เป็นแนวคิดที่ทางสถาบันวิจัยระดับโลกของอีริคสัน (ผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร) ปลุกกระแสขึ้น โดยเล็งเห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เครือข่ายสื่อสารความเร็วสูง (5G/6G) จะช่วยรองรับและทำให้ Internet of Senses เกิดขึ้นได้จริงในปี 2025 โดยอาจต้องเริ่มจากการพัฒนาอุปกรณ์ AR และอุปกรณ์ haptic ที่สามารถสร้างประสบการณ์การสัมผัสโดยใช้แรง การสั่น หรือการเคลื่อนไหวให้กับผู้ใช้ หรือเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี XR[3] ให้เกิดขึ้นก่อน และคาดว่าจะสามารถต่อยอด Internet of Senses ให้กลายเป็นระบบการสื่อสารโดยตรงจากความคิด (Thought Communication) ได้ในปี 2030

จากรายงาน 10 Hot Consumer Trends 2030 ของอีริคสัน ที่เป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยี AR และ VR เป็นกิจวัตรกว่า 7,600 คนในเมืองใหญ่ทั่วโลกพบว่า พวกเขาคาดหวังให้มีการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสรูปแบบผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์ภายในปี 2030 อาทิ

(1) การใช้ความคิดเป็นอินเตอร์เฟสที่สามารถสั่งงานไปยังระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ดิจิทัลได้โดยตรง

(2) การควบคุมเสียง โดยสามารถสร้าง digital sound bubble เพื่อกันเสียงที่ไม่ต้องการ เลือกฟังเสียงที่อยากฟัง และกำหนดเสียงของตัวเองขึ้นใหม่ได้

(3) การรับรู้รสชาติอาหารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยการนำอุปกรณ์เครื่องรับรสชาติอาหารมาไว้ในปาก

(4) การรับรู้กลิ่นผ่านระบบดิจิทัล

(5) การรับสัมผัสผ่านอุปกรณ์เสริมการรับรู้อย่าง wrist band หรือ arm band ทำให้สามารถรับรู้ผิวสัมผัส รูปร่าง หรือน้ำหนักของวัตถุได้

หากสำเร็จ เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การจัดงาน การแพทย์ อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว ธุรกิจ การตลาด การชอปปิง นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการลงมือจริง ลดการเดินทาง ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้พลังงานได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ยังมีประเด็นในด้านความปลอดภัยของข้อมูล และการปกป้องความเป็นส่วนตัวที่ต้องพัฒนาต่อไป

Nanotechnology ความจิ๋วที่เปลี่ยนชีวิต

นาโนเทคโนโลยีเป็นการประยุกต์สร้างวัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับอะตอม โมเลกุล หรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วง 1 ถึง 100 นาโนเมตร เพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพเคมีและชีวภาพ ในปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์กันแดด เสื้อผ้า อาหาร สมาร์ตโฟน ไปจนถึงยา แต่ในอนาคต นาโนเทคโนโลยีจะพลิกชีวิตมนุษย์ไปอีกขั้นในหลายรูปแบบ

ในทางการแพทย์ จะมีนาโนโรบอตที่ถูกฉีดเข้าไปในระบบเลือดเพื่อค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยส่งยาในระดับไมโครไปยังจุดที่ต้องการรักษาได้อย่างแม่นยำ ป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับอวัยวะรอบข้างได้ นักวิทยาศาสตร์มองว่านาโนโรบอตสามารถลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันหรือปัญหาเกี่ยวกับการกินอาหาร รวมถึงคอยจับตาดูอาการผิดปกติต่าง ๆ และส่งข้อมูลไปยังระบบ cloud เพื่อให้แพทย์ติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิดแบบ customize โดยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล

เรย์ เคิร์ซวิล (Ray Kurzweil) นักประดิษฐ์และนักเขียนชาวอเมริกันคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2030 มนุษย์จะสามารถฝังอุปกรณ์ระดับนาโน(nanomachines) เข้าไปในสมอง เพื่อเพิ่มความสามารถทางสติปัญญา ประสาทสัมผัสและความจำ มนุษย์จะสื่อสารเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายแบบไร้สาย การอัปเกรดนี้เองจะเปลี่ยนบุคลิกภาพและหน่วยความจำมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ดี ยังคงมีข้อกังวลอยู่ว่าอุปกรณ์นาโนเหล่านี้อาจเป็นพิษเมื่อเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงต้องศึกษาให้ดีก่อนนำมาใช้จริงในอนาคต

จัดการไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดด้วย Smart Grid Technology

Smart Grid Technology เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่จะช่วยบริหารจัดการไฟฟ้าได้อย่างชาญฉลาด โดยออกแบบให้มีการไหลของกระแสไฟฟ้าแบบสองทิศทางและประยุกต์เทคโนโลยีหลายประเภท เช่น ระบบควบคุมแบบอัตโนมัติ ระบบสื่อสารสารสนเทศ ระบบเก็บข้อมูล รวมทั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มาใช้งานร่วมกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ความฉลาดของระบบนี้คือจะประเมินศักยภาพของแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากฟอสซิล รวมทั้งสั่งการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีของ smart grid คือระบบไฟฟ้าจะเสถียรขึ้น ลดปัญหาการเกิดไฟฟ้าดับและปริมาณไฟฟ้าที่สูญเสียจากการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ความเสถียรนี้จะรองรับอุปกรณ์ smart appliances และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งยังทำให้เกิดสังคมสีเขียวที่มีคาร์บอนต่ำด้วย หลายประเทศทั่วโลกจึงหันมาสนใจพัฒนาระบบนี้มากขึ้น ในปี 2030 คาดว่าจะมีการขยายสเกล smart grid ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเชื่อมกริดทั้งประเทศเข้าด้วยกัน และจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในประเทศกำลังพัฒนาด้วย

“หากเทคโนโลยีพลิกชีวิตทั้ง 5 นี้เกิดขึ้นจริงและแพร่หลายในอนาคต จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างมีคุณภาพ ลดต้นทุน ความเสี่ยง และการสูญเสียทั้งในแง่ของบุคคล ธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เป็นสังคมสีเขียวจากการลดการใช้พลังงาน นำไปสู่สังคมที่ยั่งยืนได้ในที่สุด”

แหล่งข้อมูล

https://www.thansettakij.com/technology/548507


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210