3 นวัตกรรมใต้เงาโควิด

Loading

ตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดในไทย นักวิจัยได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดดังกล่าวแบบทำไป เรียนรู้ไป เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและลดความเสี่ยงด้านเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่นำเข้ามาจะเพียงพอหรือเปล่า หรือต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพียงใด นั่นทำให้เราสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ก่อนหน้านี้นึกไม่ถึงว่าจะทำได้ และนี่คือ 3 นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19

ยารักษาโควิด

เมื่อครั้งโควิดระบาดใหม่ๆ เราต้องนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด แต่ราคาที่แพงบวกกับปัญหาการนำเข้า กลายเป็นแรงผลักดันงานวิจัยภายใต้แนวคิดไทยต้องผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองให้ได้

ดร.เภสัชกร นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าจุดเริ่มต้นในการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient – API) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ใช้ในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ว่า การผลิตยาตัวหนึ่งมีหลายขั้นตอน เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำคือการผลิตโมเลกุลยาใหม่ขึ้นมา ส่วนกลางน้ำเป็นการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API และปลายน้ำคือการปรุงเป็นยา ให้เป็นยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาฉีด โดยทีมวิจัยได้ทำในส่วนที่เป็นกลางน้ำ คือ การสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม หรือ API ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญของการผลิตยา

“เราเริ่มต้นวิจัยมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ในช่วงที่ไวรัสโคโรนากำลังระบาดหนักในจีนและต่างประเทศ ในช่วงนั้นหลังมีการศึกษาพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่เคยใช้รักษาไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม มีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรนาได้ จึงเริ่มมีการนำมาใช้รักษาอย่างกว้างขวาง จนเมื่อไวรัสโคโรนาเริ่มเข้ามาระบาดในไทย การนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากในต่างประเทศที่มีการระบาดก็ต้องการเก็บยาไว้ใช้ในประเทศของตัวเอง ทำให้ไทยขาดแคลนตัวยา แม้ว่าเราจะสามารถปรุงหรือผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เองได้ แต่เมื่อไม่มีสารตั้งต้นหรือ API ก็ไม่สามารถผลิตได้ โดยในขณะนั้นมีเพียง 2 ประเทศที่ผลิตสาร API คือ จีน และญี่ปุ่น โดยประเทศนั้นๆ จำกัดส่งออก จึงเป็นจุดเริ่มในการทำวิจัย” ดร.เภสัชกร นิติพล กล่าว

งานวิจัยเริ่มทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีนักวิจัยกับนักเคมีอีก 1 คน เท่ากับว่าเริ่มต้นเพียง 2 คน พยายามศึกษาทดลองกัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตโรคจะมาระบาดในไทยมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การสังเคราะห์สาร API นั้นมีหลายขั้นตอนและหลายวิธี เมื่อลองวิจัยไปได้ระยะหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากองค์การเภสัชกรรม หลังจากได้ทุนก็เริ่มรับคนเข้ามาช่วยเป็นทีมมากขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ พันธมิตรต่างประเทศ มีบริษัทเอกชนรวมถึงหลายๆ หน่วยงานเข้ามาเป็นพันธมิตรคอยช่วยเหลือสนับสนุนในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ ทั้งองค์เภสัชกรรมเอง และ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ล่าสุด “ยาฟาวิพิราเวียร์” ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนขององค์การเภสัชกรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มกระจายยาให้ผู้ป่วยได้ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ทีมวิจัยยังเดินหน้าศึกษาวิจัยยาอื่นๆ รวมถึงทำยาตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดดื้อยาในอนาคตด้วย เนื่องจากยาที่ใช้สำหรับโรคติดเชื้อเมื่อใช้ไปสักพักอาจทำให้เชื้อเกิดการกลายพันธุ์ หรือเป็นเชื้อที่ดื้อยาขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงต้องคิดถึงเรื่องการดื้อยาเผื่อไว้ด้วย โดยเร่งศึกษาวิจัยทำยาตัวใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำ

ชุด PPE

ชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” ถือเป็นนวัตกรรมฝีมือคนไทย ซึ่งผ่านการรับรองจาก อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วยประหยัดงบประมาณจัดซื้อจากต่างประเทศกว่า 1 หมื่นล้านบาท         

ในปี 2563 ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาใช้ได้เอง เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, องค์การเภสัชกรรม, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการภาคเอกชน 13 แห่ง จากเดิมในช่วงแรกของการระบาดมีความกดดันอย่างมาก จึงใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อจัดหาชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19

จากการคาดการณ์ว่าเราจะต้องใช้ชุด PPE ถึง 20 ล้านชุดเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 การผลิตชุด PPE รุ่น “เราสู้” ขึ้นมาเองสามารถประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจากต่างประเทศได้ถึง 10,000 ล้านบาท เงินที่ประหยัดได้เทียบกับการมีงบประมาณที่จะนำไปสร้างโรงงานผลิตวัคซีน อีกทั้งชุดที่ผลิตขึ้นใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง ถ้าผลิต 10,000 ชุดจะทดแทนการใช้จำนวน 200,000 ชุดจากการนำเข้า นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในการผลิตชุด PPE และยังสะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย ที่เป็นก้าวแรกสู่การเริ่มต้นผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่มีมาตรฐานใช้เอง และมีความพร้อมรองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ

วัคซีน

จากข้อมูลการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไทยทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 ก.ค. 2564 รวมอยู่ที่ 14.13 ล้านโดส ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) พบว่าเป็นปริมาณการฉีดวัคซีนที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 57.48 ล้านโดส ขณะที่ฟิลิปปินส์ฉีดวัคซีนแล้ว 14.07 ล้านโดส มาเลเซีย 13.62 ล้านโดส กัมพูชา 9.67 ล้านโดส เป็นลำดับที่ 3-5 ในอาเซียน ตามลำดับ

นอกจากการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตต่างประเทศแล้ว วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาในประเทศจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รายงานข้อมูลล่าสุดว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในไทยมีความคืบหน้าไปมาก บางชนิดเข้าสู่เฟสการทดลองในคนแล้ว โดยคาดว่าวัคซีนที่พัฒนาในประเทศจะสามารถนำมาใช้ในประเทศได้ในปี 2565 สำหรับวัคซีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศไทยขณะนี้มี 3 ชนิด คือ

1 วัคซีนชนิด mRNA CU-Cov19  พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดสอบในคน

2 วัคซีนชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac พัฒนาโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการทดสอบในคน

3 วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax1 เป็นวัคซีนที่พัฒนาจากใบพืชตระกูลยาสูบ โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลองแล้วเตรียมการเข้าสู่การทดลองในคน 

ด้านหนึ่งของวิกฤตแม้จะเต็มไปด้วยความโหดร้ายและสูญเสีย แต่อีกด้านคือการค้นพบนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขของไทยในอนาคต

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/07/30/3-innovations-in-covid-era/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210