“ปี 2564 จะเป็นปีแห่งความเหนื่อยต่อเนื่องที่อุตสาหกรรมสื่อไทยจะต้องเผชิญและประคับประคองให้ผ่านไปให้ได้ ด้วยการวางกลยุทธ์การใช้สื่อที่โดนใจผู้บริโภค ซึ่งมีพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป” นี่คือ หลักใหญ่ใจความที่เราได้จาก Thailand Media Landscape 2021 หรือ รายงานการวิเคราะห์ ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564 โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้เกริ่นถึงการแข่งขันและเอาตัวรอดของสื่อในยุคโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นวิกฤตซ้ำซ้อนจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” (Digital Disruption) ที่สื่อไทยต้องเผชิญทำให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การปรับรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ตลอดจนการปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ การสร้างความแตกต่างเพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งมีพฤติกรรมในการใช้สื่อและการติดตามข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน จึงเป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งในปีนี้
นอกจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ปลายปี 2563 ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นปัจจัยแทรกแซงที่อาจทำให้เม็ดเงินโฆษณาที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของกลุ่มธุรกิจสื่อหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ส่งผลให้ อุตสาหกรรมสื่อไทย ต้องฮึดสู้และปรับกระบวนท่าเพื่อปรับตัวกันอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อีกครั้ง โดยใช้คำแนะนำชี้ทิศทางการเติบโตของสื่อซึ่งโดนใจวัยรุ่นจาก Thailand Media Landscape 2021 มานำทาง
โดยในเบื้องต้น รายงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นก่อนว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ฉุดเม็ดเงินโฆษณาปี 63 หดตัว 14%
พิจารณาจากภาพรวมของมูลค่าโฆษณาในเดือนธันวาคม 2563 (ข้อมูลจากนีลเส็น) เพียงเดือนเดียวลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเม็ดเงินโฆษณาในปี พ.ศ. 2563 ทั้งปีมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 106,255 ล้านบาท เป็นการหดตัวลง 14%
- สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดที่ 63,177 ล้านบาท ลดลง -10.15%
- สื่ออินเทอร์เน็ตมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาปี 2563 ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ 19,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28%
- สื่อสิ่งพิมพ์มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาที่ 3,833 ล้านบาท ลดลง -32%
- สื่อวิทยุมีการใช้เม็ดเงินโฆษณาที่ 3,602 ล้านบาท ลดลง -24%
อัปเดต สื่อเก่า แม้จะอยู่ในช่วงขาลง แต่ใช่ว่าจะไม่มีแสงสว่างปลายอุโมงค์
หนังสือพิมพ์
ปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งวิกฤตซ้ำซ้อนสำหรับวงการหนังสือพิมพ์ก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับผลกระทบจาก “Digital Disruption” ซึ่งลากยาวมาหลายปีแล้ว พายุลูกล่าสุดอย่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังพัดมาทลายวงการสื่อสิ่งพิมพ์ให้พังภาพลงไปอีก
โดยปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวไปต่อไม่ได้ คงหนีไม่พ้นเม็ดเงินโฆษณาจากบริษัทเจ้าของแบรนด์ต่างๆที่ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ยิ่งพอมาเจอกับวิกฤตโควิดยิ่งโดนตัดลงแทบจะเหลือศูนย์
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงปีที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์ บ้านเรายังฮึดสู้ พร้อมปรับตัวด้วยวิธีต่างๆกัน
ยกตัวอย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ เดอะเนชั่น ที่รายงานวิเคราะห์ Thailand Media Landscape 2021ระบุว่าใช้วิธี “ตัดแขนขาเพื่อรักษาชีวิต” โดยตัดสินใจปิด หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก จากนั้น เปลี่ยน หรือ Transform ให้ แบรนด์ “คมชัดลึก” ไปอยู่ สื่อดิจิทัล ที่อยู่ในเครือเนชั่น ด้วยเหตุผลว่าธุรกิจโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค รายได้จากโฆษณาถูกแบ่งไปยังสื่ออื่น ทำให้ต้นทุนในการผลิตหนังสือพิมพ์สูงขึ้น ปัจจุบัน เครือเนชั่นเหลือสื่อสิ่งพิมพ์เพียงฉบับเดียว ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หรือ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ Business Today ที่ได้ประกาศยุติการตีพิมพ์ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 2563) โดยระบุว่า “ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่ถูกปิดและเงื่อนไขการทำงานที่ทุกคนต้องปรับตัว จึงทำให้ต้อง พัก การตีพิมพ์ Business Today เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน”
จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทางกองบรรณาธิการ Business Today จึงตัดสินใจกลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกยุคหลังโควิด-19
นิตยสาร
ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับ หนังสือพิมพ์ เพราะจัดเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีนิตยสารหลายหัวที่ต้องปิดตัวลงไป ส่วน นิตยสารที่ยังยืนหยัดต่อสู้อยู่ก็ต้อง “ปรับกลยุทธ์การขาย สู้กันต่อในโลกออนไลน์แบบเต็มตัว”
แม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาในนิตยสารจะลดต่ำลงเรื่อยๆ ทุกปี แต่สิ่งหนึ่งที่นิตยสารยังเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองได้ ก็คือ การขายปก ปรับรูปแบบให้น่าสนใจและเอ็กซ์คลูซีฟมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่กำลังเป็นที่นิยมมาขึ้นปก บางฉบับสามารถเรียกกระแสการหาซื้อเพื่อเก็บเป็นของสะสมได้อีกด้วย
อย่าง นิตยสารเส้นทางเศรษฐีที่ตัดสินใจยุติการพิมพ์ในวันที่ 1 มกราคม 2563 แล้วอาศัยฐานผู้อ่านที่อยู่สื่อโซเชียลมีเดียของนิตยสารฯ โกออนธุรกิจต่อไปในรูปแบบสื่อออนไลน์ ซึ่งทางผู้บริหารระบุว่า “เราได้ขับเคลื่อนและโปรโมตช่องทางการติดตามนิตยสารฯผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจังมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีสมาชิกผู้อ่านติดตามเส้นทางเศรษฐีผ่านทางออนไลน์แล้วกว่า 5 แสนคน”
เช่นกันกับ นิตยสารแฟชั่นไฮเอน อย่าง Vogue ที่ปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการเปิดให้ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดนิตยสาร Vogue อ่านฟรีได้ทางออนไลน์ ทั้งบนเว็บไซต์ Vogue.co.th หรือดาวน์โหลดฟรีผ่าน 4 แอปพลิเคชัน e-book ได้แก่ SE-ED, Ookbee, Naiin และ MEB และด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากผู้อ่าน ในภายหลัง Vogue จึงได้ตัดสินใจขยายเวลาให้อ่านฟรีได้จนถึงฉบับเดือนส.ค. 2563
ทีวีดิจิทัล
“ในปี 2564 ทีวีดิจิทัลด้านรายการข่าวเป็นหนึ่งในสื่อที่น่าจับตาและคาดว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นจากเทรนด์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ New Normal ประชาชนได้ใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น” เชื่อว่า หลายคนอาจยังไม่ทราบการคาดการณ์แนวโน้มนี้ ซึ่งมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจริงแล้ว เพราะที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัล ช่องต่างๆล้วนแข่งขันกันด้วย “รายการข่าว” แทบทั้งสิ้น
ยืนยันได้ด้วยข้อมูลทางสถิติ เมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าชั่วโมงการรับชมรายการข่าวจากทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2 ชั่วโมง 6 นาที จึงมีแนวโน้มว่าสื่อนี้จะฟื้นตัวและได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มของเม็ดเงินโฆษณา
แต่สำหรับรายงานอื่น นอกเหนือจากรายการข่าวแล้ว อย่างรายการสายเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ยังต้องเหนื่อยกับคู่แข่งที่เป็นผู้ให้บริการ OTT ทั้งในและต่างประเทศ หรือ Video Streming เช่น Netflix, VIU เป็นต้น
วิทยุ
“กลยุทธ์การสร้างรายได้ของสื่อวิทยุยังคงเป็นเทรนด์เดียวกับปีก่อนๆ นั่นคือ การสร้างรายได้จากหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่จากโฆษณาผ่านรายการวิทยุเพียงอย่างเดียว” บทวิเคราะห์ได้ระบุชัดเจนถึงทิศทางการฝ่าวิกฤตของสื่อวิทยุในยุคนี้
นอกจากนั้น สื่อดั้งเดิม อย่าง วิทยุ ยังได้รับอานิสงส์จากที่ผู้คนทำงานอยู่บ้านกันมากขึ้น โดยเปิดฟังวิทยุจากทุกช่องทาง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุ โทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และ คอมพิวเตอร์
ขอยกตัวอย่างของการปรับตัวเพื่อรายได้จากหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่จากโฆษณาผ่านรายการวิทยุเพียงอย่างเดียวของผู้เล่นรายใหญ่อย่างอาร์เอส ซึ่งประกาศกลยุทธ์ “แม่น้ำ 3 สาย” ได้แก่ แม่น้ำสายที่ 1 COOLfahrenehit (ธุรกิจคลื่นเพลง) แม่น้ำสายที่ 2 COOLive (ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์) และแม่น้ำสายที่ 3 COOLanything (ธุรกิจคอมเมิร์ซ) ที่เปลี่ยนผู้ฟังเป็นผู้ซื้อ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงและช้อปปิ้งออนไลน์ไปพร้อม ๆ กันผ่านแอปพลิเคชัน COOLISM ภายใต้คอนเซปต์ “ฟังเพลงได้ ช้อปเพลิน ในแอปเดียว” และกลยุทธ์นี้ก็ถือว่ามาถูกทาง เพราะกำลังทำเงินให้กับอาร์เอสแบบสวนกระแสอยู่ในขณะนี้
เปิดลิสต์ อุตสาหกรรมสื่อไทย บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่กำลังรุ่งอยู่ในตอนนี้
แน่นอนว่าสื่อดิจิทัลในตอนนี้ เป็นสื่อประเภทเดียวที่ยังรักษาความแรงได้คงเส้นคงวาอยู่ ซึ่งประเภทของสื่อที่มาแรงในปีนี้ยังไม่ทิ้งสื่อดิจิทัลดาวรุ่งพุ่งแรงเมื่อปีที่แล้ว
เว็บไซต์
วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบและกดดันให้สื่อมวลชนปรับโครงสร้างองค์กร และปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เพื่อความอยู่รอด หนึ่งในนโยบายที่องค์กรสื่อนำมาใช้คือการลดจำนวนพนักงาน ดังนั้น เราจึงได้เห็นข่าวคราวการปรับโครงสร้างองค์กรในหลายองค์กรสื่ออย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มนักข่าวที่พยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการจัดทำเว็บไซต์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยอาศัยประสบการณ์และความชำนาญที่มีอยู่เดิมมาใช้กับช่องทางการทำงานใหม่
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นเว็บไซต์ใหม่ ๆ ที่เปิดตัวขึ้นมา ภายใต้การดำเนินงานของนักข่าวที่มากด้วยประสบการณ์ในวงการ อย่าง thisrupt.co ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษของบริษัท ธีสรัปท์ มีเดีย จำกัด ภายใต้การบริหารของ วรนัยน์ วาณิชกะ นักวิจารณ์การเมืองและสังคม ที่เคยเป็นคอลัมน์นิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยเว็บไซต์นี้เน้นนำเสนอข่าวที่เป็นประเด็นร้อนในสังคม ทั้งการเมือง ธุรกิจ และไลฟ์สไตล์
โซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดีย ยังเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์สุดฮิตในปีนี้ เพราะคนไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่การติดตามข่าวสาร สร้างความความบันเทิง ขายสินค้า-บริการ ไปจนถึงใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง เนื่องจากโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดเด่นและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป
กลุ่มสื่อที่มีรากฐานมาจากสื่อสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์สามารถเลือกใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, LINE หรือ Tik Tok เพื่อนำมาสนับสนุนการเผยแพร่คอนเทนต์ของช่องทางหลักให้เข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มช่วงอายุต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจหลายประเภท โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มบันเทิงที่ต้องมีการปิดให้บริการชั่วคราว กลุ่มศิลปินต้องงดการแสดงคอนเสิร์ตหรือดนตรีสด รวมทัั้งการกักตัวอยู่กับบ้านเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ได้เปิดโอกาสให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือของโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์มอย่างเต็มที่ เช่น
การไลฟ์สด
ผ่านช่องทางต่างๆ จากกลุ่มศิลปิน หรือแสดงดนตรีสดโดยสถานบันเทิงที่ต้องปิดให้บริการ สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแฟนเพลงและฐานลูกค้าในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ตลอดจนต่อลมหายใจให้กับนักดนตรีได้ในยามวิกฤต
การตั้งกลุ่มบน Facebook ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเปิดตัวขึ้นเพื่อเป็นแหล่ง “ซื้อขายแลกเปลี่ยน” สินค้าและบริการในการช่วยเหลือศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า Marketplace นั่นเอง
การใช้ LINE Call ติดต่องานเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน ขณะที่คนไทยบางส่วนก็ LINE Call กับเพื่อนไม่ว่าจะโทรหาเพื่อนคนเดียวหรือประชุมสายกันเป็นกลุ่มเพื่อชวนคุยแก้เหงา ด้วยเหตุนี้ ไลน์จึงพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชันเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยบนแพลตฟอร์มไลน์
การใช้ TikTok เพื่อสร้างความบันเทิงและผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับผู้ใช้งานที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ตามปกติ และยังสามารถเจาะกลุ่มผู้ใช้ได้หลากหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ TikTok ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงการกักตัว แต่ยอดดาวน์โหลดทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
การเกิดขึ้นของ Clubhouse
คลับเฮาส์ นับเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหม่ที่มาแรงตั้งแต่ต้นปี ด้วยรูปแบบการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันที่เน้นการพูดคุยกันด้วยเสียง (Audio-only app) โดยผู้ใช้จะเปิดห้องสนทนา สร้างหัวข้อที่ตนเองสนใจ แล้วดึงคนเข้ามารวมตัวกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่เข้ามาอยู่ในห้องสนทนา นอกจากการเข้ามาฟังการพูดคุยจากกลุ่มบุคคลที่ตนเองสนใจแล้ว ยังสามารถแชร์เรื่องราวของตนเองและพูดคุยในประเด็นดังกล่าวได้อีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้น Clubhouse โด่งดังจากเป็นแพลตฟอร์มที่เหล่าคนดัง เซเลบริตี้ และผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมแบ่งปันมุมมองในประเด็นต่างๆ ในฐานะ Moderator หรือผู้ที่สร้างห้องสนทนาขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถยกมือเพื่อซักถามหรือเล่าเรื่องราวของตัวเองได้
โดยตัวผู้ใช้งานสามารถเข้า-ออก ห้องสนทนาห้องต่างๆ ได้อย่างอิสระตามความชอบของตนเอง และห้องจะหายไปเมื่อกดปิดห้อง (End Room) โดยไม่สามารถฟังย้อนหลังได้
อินฟลูเอนเซอร์
แม้จะไม่ได้จัด อินฟลูเอนเซอร์ อยู่ในสื่อสมัยใหม่ ทว่า อินฟลูเอนเซอร์ในไทยเป็นกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ และได้รับความสนใจและติดตามจากกลุ่มผู้บริโภคในช่องทางที่หลากหลาย
ข้อมูลจากบริษัท แคสติ้งเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นการทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทย ยูทูปเป็นแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์เลือกใช้ในการทําคอนเทนต์สูงสุดเป็นอันดับแรก ตามมาด้วย อินสตาแกรม
โดย 42% ของอินฟลูเอนเซอร์ในหมวดศิลปะและบันเทิง แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และการท่องเที่ยวเลือกที่จะสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอและภาพ ซึ่งยูทูปและอินสตาแกรม เนื่องจากเป็นสื่อที่มีคุณสมบัติที่สามารถตอบโจทย์อินฟลูเอนเซอร์ในสายนี้ และตอนนี้ยังมี ติ๊กต็อก (TikTok) ที่เป็นสื่อที่มาแรงของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ด้วยเช่นกัน
Over-the-Top TV (OTT TV)
ปี 2563 ธุรกิจให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ “Over-the-Top TV” (OTT TV) หรือ บริการสตรีมมิ่งวิดีโอ ที่เรารู้จักกันดีอย่าง Netflix, Iflix, Youtube ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Ovum คาดการณ์ว่า รายได้ในภาพรวมของผู้ให้บริการ OTT TV ประเภท SVOD ในประเทศไทยจะมีมูลค่าแตะ 100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และอาจก้าวกระโดดถึง 181 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567
ขณะเดียวกัน คาดว่า จำนวนผู้บอกรับสมาชิก OTT TV ในไทยทั้งประเภท SLIN และ SVOD จะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 200,000 ราย มาอยู่ที่ 1.52 ล้านรายในปี 2563 และอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 2.45 ล้านรายในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขผู้ใช้บริการ OTT TV ในปี 2558 ถึง 7 เท่าตัว โดยแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของจำนวนผู้ชม OTT TV ทั่วโลก
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการ OTT TV ในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการรับชมแบบตามความต้องการ (on-demand service) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการรับชมมากกว่าการรับชมแบบสด
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/04/22/2564-thailand-media-landscape-fight-covid/