เปิดตัว วิสาหกิจชุมชนแปรรูป ขยะพลาสติกทะเล ครบวงจรแห่งแรก @ ชลบุรี พร้อมขยายผลสู่ชุมชนใน EEC

Loading

เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ ที่ควรค่าแก่การบอกเล่าให้ได้ชื่นใจร่วมกัน สำหรับการเปิดตัววิสาหกิจชุมชนบ้านอำเภอ แปรรูปขยะพลาสติกครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์หลายต่อ ทั้งเป็นการลด ขยะพลาสติกทะเล ด้วยนวัตกรรมการแปรรูปที่ทันสมัย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน หรือ EEC ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างได้ผล และยังเป็นโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น่าชื่นชม

โดย เมื่อเร็วๆ นี้ ชุมชนบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และ บริษัทพรีเชียส พลาสติค แบงค็อก จำกัด ได้ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรเพื่อเปิดตัว วิสาหกิจชุมชนแปรรูปขยะพลาสติกช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติคล้นทะเลฝั่งตะวันออก ขึ้น

วิสาหกิจนี้จัดเป็นต้นแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นชุมชนอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ที่นำขยะพลาสติกจากทะเลมาแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างได้สำเร็จพร้อมจำหน่ายเพื่อใช้งานเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

จากปัญหาสู่ความร่วมมือ ร่วมคิดค้นทางออกให้กับ ขยะพลาสติกทะเล ในชายฝั่งทะเลตะวันออก

อัจฉรา ทับขัน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า

“การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านอำเภอเพื่อแปรรูปขยะพลาสติคจากทะเลมาเป็นวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปพร้อมใช้งานนี้ ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในทะเล ที่เริ่มต้นจากความร่วมมือของชุมชนบ้านอำเภอ กับเทศบาลนาจอมเทียนที่ช่วยกันเก็บขยะพลาสติคจากทะเลไว้ ซึ่งขยะเหล่านี้มีมากถึง 1,140 ตัน/ปี และขยะจากกิจกรรมการประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ 18.18 ตัน/ปี พอเก็บได้เราก็หาทางทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมา”

“ดังนั้น จากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ๆ มีปัญหาจากขยะได้ทำลายสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล สัตว์และพืชทะเลมีความลำบากในการดำรงชีวิต ฉะนั้น การเปิดวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนแบบบูรณาการนี้จึงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการยกระดับการบริหารจัดการขยะพลาสติคอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

ด้าน เวคิน ตั้งกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน กล่าวว่า MQDC ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จิตอาสาชุมชนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียน สถาบันการศึกษา เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ตลอดจนเอกชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาและกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกัน อาทิ กิจกรรมรณรงค์เก็บขยะทะเลประจำเดือน งานเดินวิ่งเก็บขยะ “รักษ์ทะเล เสน่ห์บ้านอำเภอ””

“ตลอดระยะเวลาในการร่วมอนุรักษ์ในพื้นที่กว่า 3 ปี ชุมชนบ้านอำเภอถือเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กอปรกับมีความตั้งใจในการร่วมหาแนวทางต่างๆ เพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่และนำมาเป็นวัสดุทดแทนที่เกิดประโยชน์ เราจึงให้ทาง ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน(RISC by MQDC) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แนะนำพันธมิตรเครือข่ายเข้ามาร่วมต่อยอดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้งานในโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเหมาะสม”

“ทั้งนี้ ในอนาคต MQDC จะซื้อวัสดุก่อสร้างอัพไซคลิ่งจากวิสาหกิจชุมชนนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนให้ก้าวหน้าได้ตามเป้าหมาย เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาวต่อไป”

มทร.ธัญบุรี จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ต่อยอดให้วิสาหกิจชุมชนมีกำลังการผลิต นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ยั่งยืน

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเชิงพาณิชย์ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี

“ชุมชนต้นแบบนี้ได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณการศึกษาสูตรผสมสำหรับทำบล็อกจากเศษขยะพลาสติกทะเลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานวิจัยทะเลไทยไร้ขยะ โดยมี มทรธัญบุรี เป็นผู้ดำเนินการในส่วนของการวิจัย คิดค้น สูตรทำอิฐบล็อกจากขยะพลาสติกทะเลขึ้น”

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเชิงพาณิชย์
สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี

“โดยในการวิจัยเฟสแรก เราศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากพลาสติกทะเล จากขยะทะเลที่มาจากชุมชน ชายหาด ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งทะเลชายหาดภาคตะวันออกทั้งหมด”

“ต่อมาในเฟสสองนี้ เราจึงได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง คือ ชุมชนกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีการแยกขยะ เก็บขยะมาแปรรูปอยู่แล้ว โดยความสำเร็จส่วนหนึ่งของชุมชนนี้มาจากผู้นำชุมชนที่เป็นนักอนุรักษ์ รวมถึงมีผู้สร้างแรงบันดาลใจในท้องถิ่นเป็นนักกีฬาวินเซิร์ฟทีมชาติที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาขยะในทะเลด้วย”

“ทั้งนี้ ในการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ทาง หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี ได้เข้ามาช่วยในด้านการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงเข้าไปแนะนำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรม และหาตลาดให้”

“โดยทาง มทร.ธัญบุรี ได้นำประสบการณ์จากการเปิดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมโยธา และวิศวกรรมวัสดุและโลหการ อยู่แล้ว จึงนำความรู้ด้านนี้มาปรับใช้จนได้ผลิตภัณฑ์ที่ทางวิสาหกิจชุมชนจะร่วมกันผลิตขึ้นมา ซึ่งในที่สุดเราก็คิดค้นผลิตภัณฑ์ให้กับทางวิสาหกิจชุมชนนี้ได้ คือ การผลิตอิฐบล็อกปูพื้น หรือใช้ทำขอบถนนหรือขอบคันหิน รวมถึงอิฐก่อผนัง”

“ในช่วงเริ่มแรกเป็นการลองทำเพื่อใช้ในพื้นที่ก่อน และต่อมาก็มีการผลิตในระดับใหญ่ขึ้น โดยตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างเลย ซึ่งผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกที่วิสาหกิจชุมชนจะผลิตออกมานี้จะมีส่วนผสมของขยะทะเล 6-8 เปอร์เซ็นต์”

“ในส่วนของราคา อิฐบล็อกที่ผลิตจากขยะทะเลนี้ จะมีราคาเท่ากันกับอิฐบล็อกทั่วไป แต่แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตที่ใกล้เคียงกัน ก็มีความแตกต่างกันตรงที่ในการผลิตอิฐบล็อกทั่วไปอิฐบล็อกทั่วไป จะต้องมีต้นทุนการขนส่งหินมาจากเหมือง แต่อิฐบล็อกจากขยะทะเล ต้นทุนจะไปอยู่ที่การคัดแยกและการบดย่อย ทว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผ่าน มอก. ด้านมาตรฐานของอิฐบล็อกเหมือนกัน เพราะในขั้นตอนการวิจัยเราผ่านการทดสอบสูตร ทดสอบมาตรฐานแล้ว จึงจะไปให้ทางชุมชนนำไปขายได้”

“ดังนั้น ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการผลิตอิฐบล็อกจากขยะทะเล คือ ในต้นทุนที่เท่ากัน แต่เราสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้ จึงดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากนั้น น้ำหนักของอิฐบล็อกนี้ยังเบาลง ขนส่งได้ง่ายและมากขึ้น ขณะที่ ถ้านำไปปูกลางแจ้ง ตัวอิฐบล็อกจากขยะทะเลนี้ ก็จะสะสมความร้อนลดลง ไม่ร้อนเท้ามากเกินไป”

“โดยในอนาคต เราวางแผนว่าจะตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นในพื้นที่ชุมชนกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วย เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องการแปรรูปขยะพลาสติกทะเล ในพื้นที่ภาคตะวันออกและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC”

“และต่อไปคาดว่าจะมีความต้องการอิฐบล็อกแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอุตสาหกรรมการผลิตอิฐบล็อกนี้ บริษัทที่มีโรงงานใหญ่ๆก็จะผลิตน้อยลง เพื่อไปผลิตสินค้าที่เป็นอุปกรณ์วัสดุก่อสร้างที่มีราคาสูงกว่านี้ ตลาดตรงนี้ ทางวิสาหกิจชุมชนจึงสามารถไปแชร์มาได้ ยิ่งเมื่อทาง มทร.ธัญบุรี ได้ไปติดตั้งเครื่องจักร ก็จะช่วยให้ทางวิสาหกิจสามารถผลิตอิฐบล็อกได้ถึง 400-500 ก้อนต่อวันทีเดียว นี่จึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน”

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/25/plastic-waste-management-model-in-east-sea-coast-thailand/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210