10 สุดยอดนวัตกรรม ต้านปัญหา “สุขภาพจิต” ตอบโจทย์ชีวิตยุคโควิด-19

Loading

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมและที่มีต่อคนเราแต่ละคน เป็นเหตุให้โลกต้องเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพจิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน Global Future Council on Mental Health ของ World Economic Forum ได้ร่วมมือกับ Scientific American นิตยสารวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของสหรัฐอเมริกา เพื่อเลือกสรร 10 นวัตกรรม เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนที่กำลังต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต

1. การรักษาด้วยยาชนิดใหม่สำหรับภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา

อาการซึมเศร้าส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 264 ล้านคนในทุกช่วงอายุทั่วโลก เมื่อพูดถึงการรักษาประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้า 2 ตัวหรือมากกว่า และถือว่าดื้อต่อการรักษา แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด ได้นำไปสู่การพัฒนายาซึมเศร้าชนิดใหม่ที่ทำงานโดยใช้กลไกที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยจากการวิจัยนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) และสำนักงานยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency) ได้อนุมัติให้ยาเอสเคตามีน (Esketamine) และยาเคตามีน (Ketamine) ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา เนื่องจากมีความสามารถในการอกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยยาเอสเคตามีนซึ่งมีการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยาเคตามีน (Club Drug ชนิดหนึ่งหมายถึงยาและสารเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิงที่มีการเต้นรำ) แต่มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงกว่า และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า ซึ่งการอนุมัติของหน่วยงานดังกล่าว เปิดโอกาสในการพัฒนาการรักษาที่มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

จำนวนการเยี่ยมชม telehealth ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2022

2. Telehealth และการดูแลสุขภาพจิตในชุมชนในช่วงโควิด-19

ตัวเลือกการดูแลแบบดิจิทัลผ่าน Teletherapy และแอปพลิเคชั่นใหม่ทุกประเภทมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดใหญ่นี้ บริการออนไลน์เข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่สุด และหลีกเลี่ยงความกลัวเรื่องตราบาปในการตัดสินใจแสวงหาการรักษาอาการทางจิตจากการพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์แบบตัวต่อตัวในโรงพยาบาล โดยสามารถขยายขีดความสามารถของบริการด้านสุขภาพและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่ภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศได้พัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตออนไลน์ เช่น Togetherall (ชุมชนออนไลน์ที่ปลอดภัยในการแบ่งปันความรู้สึกโดยไม่เปิดเผยตัวตน และรับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชน ผู้คนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยโดยผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตที่ได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนโดยให้บริการในสหรัฐอเมริกา) Reachout (บริการสุขภาพจิตออนไลน์สำหรับคนหนุ่มสาวและผู้ปกครองในออสเตรเลีย) และ 7 Cups (บริการด้านสุขภาพทางอารมณ์แบบออนดีมานด์และบำบัดสุขภาพจิตทางออนไลน์ โดยเชื่อมต่อกับผู้ฟังอย่างปลอดภัยในการแชทแบบตัวต่อตัว โดยผู้รับบริการไม่ต้องระบุชื่อ ขณะที่ผู้ฟังผ่านการฝึกอบรม Active Listening ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับทักษะขั้นสูงสำหรับการสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดยหลักสูตรนี้ออกแบบโดยนักจิตวิทยา) เป็นต้น ทั้งหมดเป็นแหล่งความช่วยเหลือและการอ้างอิงที่เชื่อถือได้สำหรับคนหนุ่มสาว ครอบครัวของพวกเขา และคนอื่นๆ ที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์และต้องรับมือกับความเจ็บป่วยทางจิต

3. ใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเพื่อระบุแนวโน้มและป้องกันการทำร้ายตัวเอง

ทั่วโลกมีผู้คนมากกว่า 4,000 ล้านคน ที่ใช้โซเชียลมีเดีย ก่อเกิดเป็นฐานข้อมูลพฤติกรรมขนาดใหญ่ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผลการศึกษาจาก Big Data เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ารูปแบบภาษาและรูปภาพในโพสต์สามารถเปิดเผยและคาดการณ์ภาวะสุขภาพจิตของแต่ละบุคคล และประเมินแนวโน้มสุขภาพจิตในประชากรทั้งหมดได้ ด้วยความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ (AI) การประมวลผลภาษาที่่เป็นธรรมชาติ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) อื่นๆ ทำให้นักวิจัย บริษัทเทคโนโลยี หน่วยงานราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน สามารถใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้เพื่อค้นหาสัญญาณของภาวะสุขภาพจิตต่างๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

Psilocybin สารหลอนประสาทที่พบในกลุ่มเห็ดไซโลไซบินกว่า 200 ชนิด

4. ใช้ Psychedelics เพื่อช่วยรักษาโรคทางจิตเวช

การศึกษาล่าสุดได้จุดประกายความหวังที่ว่า Psychedelics (ยาหลอนประสาท เป็นกลุ่มของสารออกฤทธิ์ทางจิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ อารมณ์ และกระบวนการทางปัญญา) โดยเฉพาะไซโลไซบิน (Psilocybin สารหลอนประสาทที่พบในกลุ่มเห็ดไซโลไซบินกว่า 200 ชนิด เช่น เห็ดขี้ควาย) และยาอีหรือยาเลิฟ (MDMA) อาจเป็นยารักษาโรคจิตที่ทรงพลัง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ เช่น โรคซึมเศร้า หรือ MDD (Major Depressive Disorder)  และโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) สามารถใช้การรักษาที่เป็นนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยได้อย่างแน่นอน โดยน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีความผิดปกติเหล่านี้ ตอบสนองต่อยาหรือจิตบำบัด และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย MDD มีภาวะซึมเศร้าที่ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเลย ทำให้การค้นพบแนวทางใหม่ในการรักษาภาวะสุขภาพจิตเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ายาหลอนประสาทพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับการรักษาอาการผิดปกติทางจิตเหล่านี้ได้

5. ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อปฏิวัติวิธีการค้นคว้าวิจัย

ทุกวันนี้เราสามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะเพื่อสร้างกลุ่มข้อมูลที่เป็นตัวแทนของประชากรทั่วโลกได้มากกว่าการศึกษาที่ทำกับผู้เข้าร่วมการวิจัยแบบเดิมๆ ที่มีเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น โดยข้อมูลดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณค่ามากในการเชื่อมโยงช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการวิจัยในอดีตที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงที่ “ถูกต้องตามหลักนิเวศวิทยา” จากผู้คนในชีวิตประจำวันตามธรรมชาติของพวกเขา มากกว่าในสภาพแวดล้อมที่ประดิษฐ์ของห้องปฏิบัติการทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้เรานำข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่นักวิจัยด้านจิตวิทยาและจิตเวชเพื่อใช้งานในด้านการให้คำปรึกษาและเยียวยารักษาผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้อีกด้วย

6. เครื่องมือดิจิทัลในการฝึกอบรมผู้ให้บริการ และอุดช่องว่างด้านการบริการสุขภาพจิต

ประมาณ 4 ใน 5 ของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพจิตที่ดีพอ ขาดความพร้อมในการรักษา ทั้งยังมีงบประมาณด้านสุขภาพจิตเพียงน้อยนิดที่จัดสรรให้กับการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช ทั้งหมดที่กล่าวมามีส่วนทำให้เกิดผลลัพธ์นี้ ขณะที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เผยให้เห็นความต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตเพิ่มสูงขึ้น และตอกย้ำวิธีที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของเรา ดังนั้นความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพในการฝึกอบรมผู้ให้คำปรึกษา/บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

7. นำเสนอโปรแกรมการศึกษาออนไลน์ เรื่องวิธีปฏิบัติในการดูแลสุขภาพจิตที่ดี

หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตคือผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนที่มีความกระตือรือร้น ขณะนี้เราอาศัยอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อกันเป็นอย่างมาก ซึ่งอนาคตของการเรียนรู้จะประกอบด้วยการผสมผสานระหว่างโมเดลดิจิทัลและไฮบริด (ออนไลน์และออฟไลน์) ด้วยต้นทุนที่ไม่แพง ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงการมีคนดังหรือไอคอนทางสังคมร่วมสร้างสรรค์โปรแกรมเหล่านี้ จะทำให้เกิดการปฏิวัติการศึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นได้อย่างแท้จริง

8. ปรับโมเดลการทำงานใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพจิตที่ดี

แม้ว่าแนวคิดของการวิจัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงานและการต่อสู้กับความเจ็บป่วยนั้นแทบจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่วิธีที่องค์กรและนักวิจัยจะร่วมกันดำเนินการนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ โดยการปรับโมเดลการทำงานใหม่ เช่น สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น มีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นว่าการทำงานแต่ละอย่างต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอนอย่างไร หรือเมื่อเกิดปัญหาแล้วต้องขอความช่วยเหลือจากใคร เป็นต้น ความพยายามเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อองค์กรเอกชนเต็มใจรวบรวมสิ่งที่ค้นพบและแบ่งปันข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่ใช้ได้ผลในบริษัทหนึ่งจะมีประสิทธิภาพมากในองค์กรที่คล้ายคลึงกัน

นอกจากนี้ ต้องทำให้พนักงานตระหนักถึงทรัพยากรด้านสุขภาพจิตที่มีอยู่ของบริษัท และสนับสนุนให้พวกเขาใช้ เพราะเกือบ 46% ของพนักงานทั้งหมดในการศึกษาของ Harvard Business Review กล่าวว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้แบ่งปันสิ่งเหล่านั้นในเชิงรุก ดังนั้นจึงต้องสื่อสารภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ หากเคยบอกกล่าวสวัสดิการนี้แก่พนักงานเพียงครั้งเดียว ให้บอกอีกครั้ง และพึงระวังว่าความอับอายและความอัปยศ ทำให้พนักงานจำนวนมากไม่สามารถใช้ผลประโยชน์จากสวัสดิการด้านสุขภาพจิตของตนเพื่อรับการรักษาได้ เพราะกลัวจะถูกมองว่าแปลกประหลาด ดังนั้นต้องทำให้การใช้บริการนี้เป็นเรื่องปกติ

9. การวิเคราะห์เชิงทำนาย/คาดการณ์อนาคต เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสุขภาพจิต

การวิจัยด้านสุขภาพจิตของประชากรแบบเดิมๆ ถูกครอบงำ โดยการตรวจสอบเหตุการณ์ในอดีต เน้นเหตุการณ์ย้อนหลังเป็นหลัก ทั้งๆ ที่มีความสามารถเพียงเล็กน้อยในการคาดการณ์เชิงวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางเชิงกลยุทธ์ในอนาคต แต่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แนวทางการวิจัยดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลง โดยได้มีการพัฒนารูปแบบต่างๆ ของผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิต ด้วยการจำลองเส้นทางของความทุกข์ทางจิตใจ ระยะเวลาในการรอรับบริการด้านสุขภาพจิต การนำเสนอโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาหรือให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ตลอดจนสถิติการฆ่าตัวตายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และการคาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการจำลองเหล่านี้จะช่วยระบุว่าจะต้องลงทุนด้านสุขภาพจิต และการป้องกันการฆ่าตัวตายในเวลาใดที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

10. ใช้แอปพลิเคชั่น/เครื่องมือดิจิทัลที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ เพื่อคุณภาพในการแก้ปัญหาสุขภาพจิต

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นมากกว่า 10,000 แอปฯ ในแอปสโตร์ และกูเกิลเพลย์ ที่่อ้างว่าสามารถรักษาอาการทางจิตได้ ด้วยโซลูชันที่หลากหลาย ทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมคุณภาพว่าแอปฯ ใดบ้างที่ได้รับการออกแบบตามหลักฐานทางคลินิกที่ดีที่สุด และเครื่องมือใดบ้างที่ได้รับการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ป่วย นี่คือที่มาที่ทำให้หลายองค์กร เช่น OneMind, Health Navigator และ World Economic Forum ได้เริ่มพัฒนาเกณฑ์การประเมินเครื่องมือสุขภาพจิตดิจิทัล โดยการวัดเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ได้รับการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นมานั้นได้รับการตรวจสอบทางคลินิก มีจริยธรรม ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเพียงพอ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/17/10-innovations-for-mental-health-during-covid19/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210