เจาะกระแส ตลาด Wearable AI ทั่วโลกและไทย กับการเติบโตแบบฉุดไม่อยู่

Loading

เมื่อพูดถึง Wearable AI Technology or Devices หลายคนอาจเริ่มคุ้นแล้วว่าเป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่สวมใส่บนร่างกายที่ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ที่สวมใส่บนร่างกายแล้วช่วยเก็บข้อมูล ติดตามการเคลื่อนไหวได้ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

อุปกรณ์เหล่านี้รวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมจากการสวมใส่ และผ่านอัลกอริธึมการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning algorithms) ที่ฝังไว้ จึงให้ข้อมูลเชิงลึก ข้อเสนอแนะและคำแนะนำต่างๆ ที่แม่นยำแก่ผู้ใช้งาน โดยใช้เซ็นเซอร์ไบโอเมตริกซ์และเทคโนโลยีสวมใส่อื่นๆ (biometric sensors and other wearable technologies) ซึ่งรวมถึงไมโครโฟนและเซ็นเซอร์หลากหลายประเภท (microphones and other sensors)

และในยุคนี้ Wearable AI ได้เข้ามาเป็นตัวช่วยตั้งแต่สุขภาพ การแพทย์ ผู้สูงอายุ จนถึงวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยแอปพลิเคชันมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทั่วไป เช่น การติดตามสุขภาพ (health monitoring) ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความเหนื่อยล้า ความเครียด การติดตามการออกกำลังกาย (fitness tracking) และติดตามการนอนหลับ (sleep tracker) รวมถึงสำหรับติดตามผู้สูงอายุ หรือทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬา (sport science) โดยมีการเชื่อมต่อกับระบบนิเวศอุปกรณ์อื่นๆ เช่น เสื้ออัจฉริยะ นาฬิกาอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ และเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้จะเก็บข้อมูลและประมวลผลได้เร็วเนื่องจากมีไมโครชิปช่วยเพิ่มความสามารถในด้านต่างๆ ทำให้สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

เจาะกระแสตลาด Wearable AI ทั่วโลก เติบโตแบบฉุดไม่อยู่

Grandview research บริษัทวิจัยตลาด ระบุว่าตลาด Wearable AI ทั่วโลกมีมูลค่า 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7.7 แสนล้านบาท ในปี 2022 และคาดว่าจะขยายตัวที่อัตราการเติบโต (CAGR) 29.8% ตั้งแต่ปี 2023 ถึง 2030 ตลาดนี้กำลังเติบโตอย่างมากเนื่องจากการประยุกต์กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และสมาร์ทโฟน 5G ฯลฯ โดยการเพิ่มขึ้นของการใช้ Smart Wearable ที่รองรับ AI นั้น เกิดมาจาก

1 ความก้าวหน้าของ IoT

2 การบูรณาการของ Wireless technology

3 ความนิยมการใช้ Smart watch ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z

ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีการสำรวจมูลค่าตลาด Smart wearable แต่พบว่า แนวโน้มตลาดในไทยเติบโตและตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย โดย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB EIC ระบุว่าแนวโน้มตลาดที่ผ่านมา Smart wearable ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย โดยมียอดขายที่สูงขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 23% ต่อปี

โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ประเภทเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีการพัฒนาทั้งด้านประสิทธิภาพการใช้งาน ความแม่นยำ รูปลักษณ์ที่หลากหลาย โดย Smart wearable ที่รู้จักคุ้นเคยที่สุดคือ Smart watch ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าคนไทยในปัจจุบันใส่ Smart Watch กันมากถึง 19% หรือเกือบ 1 ใน 5 ส่วนหนึ่งเพราะนอกจาก Apple Watch แล้วยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดในราคาถูกๆ มากมาย อย่าง Xiaomi Mi Band ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่คนไทยนิยมไม่น้อย นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงเสื้อผ้าที่ใช้ใยพิเศษในการทอเพื่อวัดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อของผู้สวมใส่ หรือชุดชั้นในที่สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจงและหลากหลายมากขึ้น

5 ปัจจัยเสริม ดัน ตลาด Wearable AI โตแบบฉุดไม่อยู่

นอกจากนั้น 6Wresearch บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาด ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกรกฏาคม 2023 วิเคราะห์ว่าตลาด Wearable Technology ในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์อัจฉริยะ Wearable Technology ที่สามารถผสมผสานเข้ากับชีวิตประจำวัน อาทิ Smart watches, Fitness trackers, Smart clothing ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพและการออกกำลังกายที่สำคัญได้

ทั้งนี้ COVID-19 ก็เป็นอีกแรงส่งหนึ่งให้ตลาดนี้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานและการเร่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งผลให้การใช้ Wearable Technology ถูกเร่งนำมาใช้ เช่น ใช้ติดตามสุขภาพ การออกกำลังกาย โรคภัยไข้เจ็บ และติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น ซึ่งการเติบโตของตลาดนี้มาจากปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่

  • กระแสการตระหนักเรื่องสุขภาพที่เพิ่มขึ้น: กระแสนี้แสดงให้เห็นได้ชัดจาก SCB EIC สำรวจว่ามูลค่าตลาดสุขภาพและเวลเนส (Health & Wellness) ของไทยมีขนาดใหญ่มากอยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2019 คิดเป็น 8% ของ GDP ไทย อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจาก 4 เมกะเทรนด์สุขภาพ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์, พฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพมากขึ้นของผู้บริโภค, อัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจในการเกาะกระแสที่กำลังเติบโต และ SCB EIC ได้สำรวจผู้บริโภคชาวไทย พบว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแล รักษา และป้องกันสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจด้านนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสทำให้คนไทยหันมาใช้ Wearable Technology เพื่อติดตามสุขภาพและการออกกำลังกายกันมากขึ้น
  • การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society): ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสถิติในปี 2022 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ประกอบกับในปี 2023 ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยที่สูงถึง 40.1 ปี ถือว่าเป็นประชากรวัยกลางคนขึ้นไป เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่แค่ 30.4 ปี ถือว่าต่างกันสูงมาก จึงส่งผลให้มีความต้องการอุปกรณ์ Wearable Technology สำหรับติดตามดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป และตัวช่วยเรื่องความปลอดภัยของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น
  • ความต้องการไลฟ์สไตล์ที่สะดวกและมีการเชื่อมต่อ (Trend of connected lifestyles): ผู้บริโภคต้องการความสะดวกและการเชื่อมต่อของอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ Wearable Technology กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเสริมปัจจัย Connectivity นี้ด้วยสถิติพฤติกรรมของคนไทยมีมือถือที่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตถึง 95.3% ในปี 2023
  • การเข้าสู่ยุคดิจิทัล : ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีนโยบายภาครัฐให้การสนับสนุน Digitalization มีสัดส่วนคนไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงถึง 85.3% นั่นหมายความว่าแทบทุกคนในประเทศล้วนออนไลน์กันหมดแล้ว นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่เชื่อมต่อกับ Wearable Technology ทำให้ตลาดนี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการด้านเทคโนโลยีส่วนบุคคล
  • เทคโนโลยีเข้าถึงง่ายขึ้น ฟังก์ชันหลากหลาย: การนำเซ็นเซอร์ขั้นสูง (Integration of advanced sensors) มาผสมผสานใน Wearable Technology ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและฟังก์ชั่นการใช้งาน กระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/04/06/wearable-ai-trend-2024/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210