ต้นแบบของโรงมดลูกเทียมแห่งแรกของโลก แก้ปัญหามีบุตรยาก

Loading

แนวคิดต้นแบบของโรงมดลูกเทียมแห่งแรกของโลกมีชื่อว่า EctoLife แนวคิดแบบนี้ เคยได้ยินได้เห็นในหนังไซไฟหลายเรื่อง ในอนาคตอาจกลายเป็นเรื่องจริง

EctoLife ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดในขั้นต้นเท่านั้น เป็นผลงานของโปรดิวเซอร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์จากเบอร์ลิน Hashem AI-Ghaili ซึ่งได้รวบรวมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตร และคาดการณ์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในโลกแห่งอนาคต

สถานที่สร้างครรภ์เทียมแบบ EctoLife จะช่วยแก้ปัญหาคู่สมรสที่มีบุตรยาก และต้องการได้ลูกที่พวกเขาเป็นพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอย่างแท้จริง มี DNA ของพวกเขาโดยตรง

ผู้หญิงที่ต้องผ่าตัดเอามดลูกออกเนื่องจากมะเร็ง หรือมีปัญหาจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จนทำให้มีบุตรแบบธรรมชาติไม่ได้ สามารถมีลูกของตัวเองได้โดยใช้มดลูกเทียม หมดปัญหาความเครียดของคุณแม่จากการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ ประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ สามารถเพิ่มประชากรของประเทศได้

แนวคิดต้นแบบโรงมดลูกเทียมของ EctoLife ประกอบด้วยห้องทดลองที่มีอุปกรณ์ครบครัน 75 ห้องที่สามารถรองรับพ็อดการเจริญเติบโต หรือ มดลูกเทียมได้ถึง 400 พ็อด อาคารหลังเดียวสามารถฟักไข่จนเป็นทารกได้ 30,000 คนต่อปี

พ็อดทุกอันได้รับการออกแบบให้จำลองสภาวะที่แน่นนอนเหมือนภายในมดลูกแม่ มีเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสัญญาณชีพของลูกน้อย รวมถึงการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และความอิ่มตัวของออกซิเจน ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนผ่านทางสายสะดือเทียม มีสารอาหารบำรุงสมอง มีสารละลายที่ทำหน้าที่เป็นน้ำคร่ำล้อมรอบตัวอ่อนเหมือนอยู่ในครรภ์แม่จริง ไม่มีปัญหาการติดเชื้อ มีระบบกำจัดของเสียที่เกิดจากตัวอ่อน และปรับเปลี่ยนของเสียให้เป็นเอนไซม์ซึ่งเป็นแหล่งสารอาหารสดที่มั่นคงและยั่งยืน

ในพ็อดมีลำโพงในตัวที่สามารถส่งเสียงหรือเล่นเพลงที่หลากหลายให้ลูกน้อยฟังได้ พ่อแม่สามารถเลือกเพลย์ลิสต์ผ่านแอปสมาร์ทโฟน จะร้องเพลงให้ลูกฟังโดยตรงก็ได้ ทำให้ลูกคุ้นเคยกับเสียงพ่อแม่ตั้งแต่ก่อนออกจากครรภ์เทียม มีกล้อง 360 องศาที่ช่วยทำให้เห็นและได้ยินการเจริญเติบโตของลูกภายในพ็อด มีบันทึกวิดีโอแสดงการพัฒนาการของลูก สามารถติดตามดูผ่านทางสมาร์ทโฟน มีระบบที่ช่วยจำลองให้พ่อแม่ได้ยินหรือได้เห็นเหมือนลูก

ก่อนวางตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วในพ็อด มีการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีศักยภาพสูงสุด และมีพันธุกรรมที่เหนือกว่า ทำให้ลูกน้อยมีโอกาสพัฒนาโดยไม่มีอุปสรรคทางชีวภาพใดๆ หรืออาจทำการดัดแปลงพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนที่จะฝังลงในครรภ์เทียม เครื่องมือแก้ไขยีน CRISPR-Cas 9 ช่วยแก้ไขลักษณะของลูกน้อยผ่านยีนที่หลากหลายกว่า 300 ยีน สามารถปรับแต่ง สีตา สีผม สีผิว ความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนสูง และกำหนดระดับสติปัญญา ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คอยมอนิเตอร์ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ และรายงานความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้น

โรงมดลูกเทียม ใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพสูง สะอาด ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับ ไม่มีการปล่อยคาร์บอน

หากไม่ต้องการให้พ็อดอยู่ในโรงมดลูกเทียม จะไปติดตั้งระบบอยู่ในบ้านของพ่อแม่ก็ได้ เมื่อเด็กในครรภ์เทียมมีการเจริญเติบโตเต็มที่ สามารถนำทารกออกจากพ็อดได้อย่างง่ายดาย

ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่แนวคิด แต่เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความก้าวหน้าทางวิทยาการที่สามารถทำได้จริง แต่ถ้าถามว่า ควรทำหรือไม่ มีปัญหาทางจริยธรรมหรือเปล่า? คงต้องถกเถียงกันอีกนาน…..

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/turakij4.0/photos/a.698141950343830/2431076797050328/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210