กล้ากินไหม? เมื่อนักวิทยาศาสตร์ เปลี่ยน ‘พลาสติก’ เป็น ‘โปรตีน’ ที่กินได้สำเร็จ

Loading

ปัจจุบันปัญหาระดับโลกที่ใหญ่รองจากเรื่องภาวะโลกร้อนก็คือ ปัญหาเรื่องขยะล้นโลก ซึ่งในบรรดาของต่างๆ ที่เป็นขยะ สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือพลาสติก เพราะมนุษย์ผลิตขยะรูปแบบนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอด และมันก็เป็นขยะรูปแบบที่ย่อยสลายช้าด้วย

เราคงได้ยินเรื่องพวกนี้มาจนเบื่อกันแล้ว และเราก็คงจะได้ยินคนพยายามแก้หลายทางอยู่ แต่มันก็คงจะไม่มีอะไร ‘ล้ำ’ เท่าสิ่งที่เรากำลังจะเล่านี้ ซึ่งเกิดจากโครงการของทาง DARPA (The Defense Advanced Research Projects Agency) ซึ่งคือหน่วยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การทหารของอเมริกา (ซึ่ง ‘ผลวิจัย’ ที่เรารู้จักกันดีของทางสถาบันนี้คือ ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่เราใช้กันทุกวันนี้นี่แหละ)

เขาเสนอว่า เราสามารถจัดการพลาสติกโดยการแปลงมันเป็น ‘อาหาร’ ของมนุษย์ได้ และมันกินได้จริงๆ!

คือนักวิทยาศาสตร์รู้สักพักแล้วว่าในโลกนี้ มันมีสิ่งมีชีวิตที่ ‘กินพลาสติกได้’ แต่ประเด็นคือ มันยังไม่มีอะไรที่เมื่อกินพลาสติกเข้าไปแล้วมีประโยชน์ ซึ่งไอเดียของการวิจัยก็คือ จะทำยังไงให้พลาสติกกลายมาเป็นอาหารของมนุษย์ได้?

เขาจึงตั้งสมมติฐานจากการประเมินองค์ประกอบของพลาสติกแล้วพบว่าถ้ามันผ่านกระบวนการบางอย่าง มันน่าจะ ‘กินได้’ เพราะพลาสติกมันมาจาก ‘น้ำมัน’ นี่เลยทำให้ทาง DARPA ไปเชิญนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญการกำจัดน้ำมันที่รั่วในทะเลมาคิดว่าจะจัดการพลาสติกยังไงดี โดยไอเดียของนักชีววิทยาคือ ในเมื่อมันมีแบคทีเรียที่กินน้ำมันได้ ทำไมเราไม่เอามาลองใช้กับพลาสติก

ซึ่งวิธีการคือ เขาเอาพลาสสติกมาหลอมให้เหลวๆ เป็นน้ำมัน แล้วใส่แบคทีเรียกินน้ำมันเข้าไป ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น แบคทีเรียใช้เวลาไม่กี่วันก็กินน้ำมันจนหมดเกลี้ยง ขยะพลาสติกหายไป ไม่ต้องเสียเวลาย่อยสลายหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี สิ่งที่หลงเหลือจากกระบวนการคือ ก้อนแบคทีเรียก้อนเบ้อเริ่มที่อิ่มหมีพีมันจากการกินน้ำมัน

นี่ทำให้เขาเกิดไอเดียที่บรรเจิดกว่านั้น เพราะในทางทฤษฎี ‘แบคทีเรีย’ ที่ว่านี้กินได้ เนื่องจากเป็นโปรตีน

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ในบรรดาจุลินทรีย์ทั้งหลายในโลก บางชนิดมันไม่ได้ส่งผลร้ายต่อมนุษย์ พวกแบคทีเรียกินน้ำมันก็เช่นกัน เราเรียกมันว่าแบคทีเรียจริง แต่มันไม่ใช่ ‘เชื้อโรค’ เพราะมันไม่ได้ทำให้มนุษย์เจ็บป่วยอะไรถ้าหากกินเข้าไป ซึ่งถ้าถามว่ากลิ่นและรสมันเป็นยังไง หลักๆ ยังไม่มีคนลองกิน แต่เขาบอกว่ามันกลิ่นเหมือน ‘ยีสต์’ หรือถ้าเป็นอาหาร มันคงมีรสคล้ายๆ อาหารเลื่องชื่อของออสเตรเลียที่ชื่อ ‘Vegemite’ ที่ทำมาจากยีสต์

รวมๆ คือ มันไม่ได้น่าอร่อยสำหรับคนทั่วไปแน่ๆ แต่มันกินได้และได้สารอาหาร

ไอเดียแบบนี้เวิร์กมากในสายตา DARPA ในระดับที่เขาวางแผนจะสร้างระบบ ‘แปลงพลาสติกเป็นอาหาร’ ให้สามารถอยู่ในรถบรรทุกเล็กๆ ตระเวนไปทั่วประเทศ เพื่อแปลงพลาสติกเป็นอาหาร ซึ่งเขาก็คิดกันระดับว่าจะใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์เพื่อ ‘ละลายพลาสติก’ ก่อนให้แบคทีเรียกินเลย เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดมัน ‘สะอาด’

เรียกว่าคิดไปไกลมาก โดยยังไม่ถามมนุษยชาติเลยว่าพร้อมจะกินแบคทีเรียกินพลาสติกกันไหม

ทั้งนี้ เราก็อาจต้องไม่ลืมเช่นกันว่า แบคทีเรียกินพลาสติกนี้ เอาจริงๆ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารมนุษย์ก็ได้ คือมันจะเอามาทำเป็นอาหารสัตว์ที่มนุษย์กินอีกที หรือกระทั่งอาหารสัตว์เลี้ยงก็ได้

เพราะว่ากันตรงๆ ถ้ามนุษย์ไม่อดอยากแบบไม่มีทางเลือกจริงๆ ก็น่าจะน้อยคนจริงๆ ที่จะกิน ‘แบคทีเรียกินน้ำมัน’ เพื่อเป็น ‘โปรตีนทางเลือก’

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3469013216757539/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210