ปัญหาใหม่ของศิลปิน เมื่อการใช้ AI ส่งผลต่อสิทธิ์ในการทำผลงาน

Loading

ในยุคที่ AI สามารถทำได้ไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการเพลง ที่สามารถเลียนแบบเสียงศิลปินคนดังได้ราวกับเสียงเจ้าตัว ทั้งแนวดนตรีหรือแม้แต่สไตล์การร้องที่เรียกได้ว่า ‘เหมือนอย่างกับเงา’

ทว่า ความก้าวหน้าที่น่ากลัวแบบนี้ของ AI ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินหลายคน เปรียบดั่งการขโมยเอาความเป็นตัวตนและน้ำเสียงของพวกเขามาใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอม

ซึ่งในปีนี้ก็มีศิลปินคนดังได้ออกมาเคลื่อนไหว และให้สัมภาษณ์กับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น อย่าง ‘Benito Antonio Martínez Ocasio’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘แบด บันนี’ (Bad Bunny) แร็ปเปอร์และนักแต่งเพลงชื่อดัง ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือกับบรรดาสื่อและแฟนๆ ของเขาว่าตอนนี้เขาไม่ได้มีแพลนที่จะปล่อยผลงานเพลงใหม่ร่วมกับนักร้องดังอย่าง ‘จัสติน บีเบอร์’ (Justin Bieber) แต่อย่างใด

คำให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อในครั้งนี้ ทำให้พวกเราได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิลปินคนดังเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเพลงหนึ่งได้ถูกปล่อยออกมาแล้วมีน้ำเสียงของคนร้องคล้ายกับศิลปินดังอย่าง แบด บันนี และ จัสติน บีเบอร์

โดยเพลงดังกล่าวได้เริ่มกระจายเข้าสู่แพลตฟอร์มดังยอดฮิตในปัจจุบันอย่าง TikTok ซึ่งเพลงนั้นก็ได้เรียกยอดไลก์นับล้านครั้ง และโด่งดังอย่างมากจนผู้คนนำแผ่นเสียงนี้ไปใช้และฟังกันอย่างแพร่หลาย

ทาง แบด บันนี ก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เพลงนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากศิลปินที่ชื่อ ‘FlowGPT’ ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสร้างเสียงร้องนี้ขึ้นมา และเขาไม่ชอบมันเอามากๆ ถึงกับเรียกมันว่า ‘เพลงไร้สาระ’ เลยทีเดียว ซึ่งคลิปดังกล่าวก็ได้ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม TikTok แล้ว

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ได้สร้างความสะดวกสบายให้กับทุกคนที่มีใจอยากจะทำผลงานเพลง หรืออยากจะได้ยินเสียงของนักร้องคนโปรดได้มาร่วมร้องในบทเพลงที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นมาสักครั้ง และในปัจจุบันก็สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน รวดเร็ว และยังนำออกไปเผยแพร่ใช้งานได้จริงๆ

กลุ่มผู้สนับสนุนบางคนที่ชื่นชอบการทำเพลง และนิยมฟังเพลงที่แต่งขึ้นด้วย เทคโนโลยี AI ก็ได้แสดงความคิดเห็นในภาพรวมว่า ความก้าวหน้าตรงนี้จะทำให้ดนตรีมีความเข้าถึงง่ายและหลากหลายมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ย่อมไม่เป็นธรรมกับศิลปินที่ถูกนำเสียงไปใช้ เพราะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำเพลงส่วนตัวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น เสียงร้อง ทำนอง หรือสไตล์ดนตรีที่สามารถถูกปรับเปลี่ยนได้ แถมยังสามารถเลียนแบบทุกๆ อย่างของพวกเขาได้อย่างแยบยล โดยที่ศิลปินเหล่านั้นไม่ได้ยินยอมหรือได้รับประโยชน์จากการทำเพลงในส่วนนี้เลย

เทคโนโลยีเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวลหลายประการ หาก AI สามารถสร้าง ‘ผลงานเพลงได้เอง’ ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวศิลปินหรือนักดนตรีรวมไปถึงกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลังในวงการ ย่อมมีความกังวลว่าอาจจะถูกแทนที่ได้

แม้แต่ผู้ที่ตื่นเต้นกับเทคโนโลยีมากที่สุดก็ยังรู้สึกเป็นกังวลกับเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ รองประธานฝ่ายเสียงของบริษัท AI Stability ได้ประกาศลาออกจากบริษัท โดยกล่าวว่า

“ผมกลัวว่าผมอาจจะมีส่วนทำให้นักดนตรีต้องลาออก บริษัทเราไม่ได้มีการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยี AI ที่มาช่วยในการผลิตผลงานใหม่ในเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับผู้สร้างตัวจริงเท่าไหร่ หลายๆ ครั้งมันเกิดการแข่งขันกัน ซึ่งผมกังวลในส่วนนี้มากๆ”

จากประเด็นความกังวลในเรื่องนี้ หลายบริษัทก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อปกป้องผลงานของพวกเขา เช่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท Universal Music Group และค่ายเพลงหลักอื่นๆ ได้ฟ้องสตาร์ทอัพ Anthropic หลังจากโมเดล AI Claude 2 ได้เริ่มเผยแพร่เนื้อเพลงที่มีลิขสิทธิ์ทุกคำของพวกเขา ทางผู้บริหารของ Sony Music กล่าวกับสภาคองเกรสแห่งอเมริกาว่า บริษัทได้ออกคำขอให้ผู้ละเมิดลบผลงานออกเกือบ 10,000 ผลงาน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านของนักดนตรีผู้ซึ่งร่วมก่อตั้งบริษัท AI Bronze ได้กล่าวว่า “หวังว่าเพลง AI จะพัฒนาจากการเลียนแบบเสียงนักร้องในปัจจุบันไป เพื่อสร้างเพลงที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และถูกพัฒนาเพื่อท้าทายแนวทางการทำดนตรีให้มีความคิดสร้างสรรค์ และถูกใช้โดยไม่ต้องมีการละเมิดลิขสิทธิ์อีกต่อไป”

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=922433499444987&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210