อุปกรณ์สวมใส่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

Loading

หนึ่งในนวัตกรรมที่เราอยากเห็นมากที่สุดคือ นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ให้สามารถพึ่งพาตนเอง และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีความบกพร่องในการมองเห็น

ตัวอย่างล่าสุดคือ อุปกรณ์ช่วยสวมใส่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ของซัมซุง ช่วยให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถนำทางได้ดีขึ้นด้วยคำอธิบายเสียงแบบเรียลไทม์

“การนำทางและความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” ถือเป็นความท้าทายในชีวิตประจำวันสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความเป็นอิสระของประชากรกลุ่มนี้ และแน่นอนว่าทำให้พวกเขาขาดความคล่องตัวด้วย แต่ในขณะที่เครื่องช่วยเดินและโซลูชั่นเทคโนโลยีช่วยเหลือในการห้รายละเอียดบางอย่าง เช่น การนำทางที่จำเป็น พร้อมการตรวจจับสิ่งกีดขวาง แต่ยังขาด “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่พูดคุยกับพวกเขา

ด้วยการถือกำเนิดของ Generative AI คู่หูนักออกแบบจากตุรกีที่ชื่อว่า Merve Nur Sökmen และ Ayberk Kole ได้ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ เพื่อสร้างอุปกรณ์สวมใส่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่เรียกว่า InSight ซึ่งตั้งใจที่จะมอบความเป็นอิสระทางการมองเห็นให้กับคนตาบอดหรือใครก็ตามที่สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ได้

ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการออกแบบสำหรับ Samsung Re:Create Challenge ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องรับรู้และสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะนำอุปกรณ์ซัมซุงหรือวัสดุของบริษัทฯ กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมความยั่งยืน

แนวคิดพื้นฐานของ InSight คือการผสานรวมเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ได้อย่างราบรื่น ในขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์การนำทางด้วยเสียงที่เข้าถึงและเชื่อมต่อได้แบบเรียลไทม์ โดยออกแบบมาเพื่อรวมคุณสมบัติทั้งหมดของเครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุงที่มีอยู่ และสร้างขึ้นจากอุปกรณ์และวัสดุรีไซเคิลของซัมซุง InSight จึงช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่พื้นฐานกับการเป็นผู้ช่วยนำทางส่วนบุคคลสำหรับผู้พิการทางสายตา

ด้วยแบตเตอรี่ในตัวและระบบควบคุมแบบสัมผัสที่ใช้งานง่าย InSight สามารถเรียกใช้คำสั่งการนำทางได้ทุกที่ทุกเวลา ด้วยการออกแบบแบบคลิปออนที่น่าสนใจ จึงสามารถสวมใส่กับเสื้อผ้าและรับคำอธิบายเสียงแบบเรียลไทม์ของสภาพแวดล้อมที่มองเห็นได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นการนำทางจึงดียิ่งขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น ขณะเดียวกันหากต้องการเพิ่มเนื้อหาให้กับความสามารถของผู้ช่วย ผู้ใช้ก็สามารถพูดคุยกลับไปยังอุปกรณ์ได้ ซึ่งด้วย AI ในตัว จะทำให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่คาดหวังได้

ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นดังกล่าวของ InSight จึงมีประโยชน์ต่อหลายชีวิตที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อความคล่องตัว และเพื่อให้อุปกรณ์สวมใส่นี้มีประโยชน์จริงๆ นอกเหนือจากการบูรณาการ AI แล้ว นักออกแบบได้ใช้สุนทรียภาพในการออกแบบของซัมซุง เพื่อให้ InSight เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและหูฟังของผู้ใช้ได้อย่างราบรื่น พร้อมมีระบบควบคุมแบบสัมผัสในตัวสำหรับการตั้งค่าส่วนบุคคล และสามารถเสียบเข้ากับสาย USB-C เพื่อชาร์จไฟได้

อีกหนึ่งนวัตกรรมด้านนี้ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ผลงานจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่พัฒนา “ดวงตา” ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถ “มองเห็น” วัตถุได้

สำหรับการซื้อของชำเป็นกิจกรรมทั่วไปสำหรับพวกเราหลายคน แต่สำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น การระบุรายการซื้อของชำใดๆ อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวล ด้วยเหตุนี้ ทีมนักวิจัยจาก School of Computing (NUS Computing) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้เปิดตัว AiSee อุปกรณ์ช่วยเหลือที่สวมใส่ได้ราคาไม่แพง ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารถมองเห็นวัตถุรอบตัวพวกเขาด้วยความช่วยเหลือของปัญญาประดิษฐ์ (AI)

บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นต้องเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบุวัตถุซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจทั้งแบบง่ายและซับซ้อน แม้ว่าความก้าวหน้าใน AI จะปรับปรุงความสามารถในการจดจำภาพให้ดีขึ้นอย่างมาก แต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ในโลกแห่งความเป็นจริงยังคงมีความท้าทายและเสี่ยงต่อข้อผิดพลาด

AiSee ซึ่งได้รับการพัฒนาครั้งแรกในปี 2018 และอัปเกรดอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี มีเป้าหมายที่จะเอาชนะข้อจำกัดเหล่านี้ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย

“เป้าหมายของเราคือการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ใช้ด้วยการโต้ตอบที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย AiSee เมื่อปฏิบัติตามกระบวนการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง เราพบเหตุผลที่ทำให้เกิดคำถามถึงแนวทางทั่วไปในการใช้แว่นตาที่เสริมด้วยกล้องว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นอาจลังเลที่จะสวมแว่นตาเพื่อหลีกเลี่ยงการตีตราจากสังคม ดังนั้นเราจึงเสนอฮาร์ดแวร์ทางเลือกที่รวมเอาหูฟังเข้าไว้ในอุปกรณ์” รองศาสตราจารย์ Suranga Nanayakkara จากภาควิชาระบบสารสนเทศและการวิเคราะห์ของ NUS Computing ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของ Project AiSee กล่าว

ผู้ใช้เพียงแค่ต้องถือวัตถุและเปิดใช้งานกล้องในตัวเพื่อจับภาพของวัตถุ ด้วยความช่วยเหลือของ AI ทำให้ AiSee สามารถระบุวัตถุ และจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อผู้ใช้สอบถาม

AiSee ทำงานอย่างไร? ผลงานสร้างสรรค์ของ NUS นี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. ดวงตา: ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เครื่องมือสร้างภาพ AiSee ประกอบด้วยกล้องไมโครที่จะจับภาพขอบเขตการมองเห็นของผู้ใช้ ขณะที่ซอฟต์แวร์สามารถดึงคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าหรือวัตถุนั้นๆ เช่น ข้อความ โลโก้ และป้ายกำกับจากภาพที่ถ่ายมาเพื่อการประมวลผล

2. สมอง: หน่วยประมวลผลภาพที่ขับเคลื่อนด้วย AI และระบบถามตอบแบบโต้ตอบ หลังจากที่ผู้ใช้ถ่ายภาพวัตถุที่สนใจ AiSee จะใช้อัลกอริทึม AI บนคลาวด์ที่ซับซ้อนเพื่อประมวลผลและวิเคราะห์ภาพที่ถ่ายเพื่อระบุวัตถุ ผู้ใช้ยังสามารถถามคำถามต่างๆ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุนั้นได้

AiSee ใช้เทคโนโลยีการรู้จำและประมวลผลข้อความเป็นคำพูด และคำพูดเป็นข้อความขั้นสูงเพื่อระบุวัตถุและทำความเข้าใจคำถามของผู้ใช้ ขับเคลื่อนโดยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ AiSee เก่งในการแลกเปลี่ยนคำถามและคำตอบเชิงโต้ตอบ ทำให้ระบบสามารถเข้าใจและตอบคำถามของผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำในลักษณะที่รวดเร็วและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง

เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ช่วยเหลือที่สวมใส่ได้ส่วนใหญ่ที่ต้องมีการจับคู่กับสมาร์ทโฟน พบว่า AiSee ทำงานเป็นระบบในตัวเอง โดยสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมใดๆ อีก

3. ผู้พูด: ระบบการนำเสียงผ่านกระดูก หูฟังของ AiSee ใช้เทคโนโลยีการได้ยินผ่านกระดูก หรือ การนำเสียงผ่านกระดูก หรือ Bone conduction เป็นการนำเสียงไปยังหูชั้นในผ่านกระดูกในกะโหลกศีรษะ ซึ่งเกิดทั้งในผู้ได้ยินเสียงปกติและผู้พิการ ทำให้มั่นใจได้ว่าบุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถรับข้อมูลการได้ยินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ยังคงสามารถเข้าถึงเสียงภายนอก เช่น การสนทนาหรือเสียงรบกวนจากการจราจร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เนื่องจากเสียงจากสิ่งแวดล้อมจะให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาด้านความปลอดภัย

“ในปัจจุบัน ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในสิงคโปร์ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ช่วยเหลือในระดับที่ซับซ้อนนี้ได้ ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า AiSee มีศักยภาพในการช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำงานที่ต้องการความช่วยเหลือในปัจจุบันให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างอิสระ ก้าวต่อไปของเราคือการทำให้ AiSee มีราคาไม่แพงและเข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ เรากำลังทำการปรับปรุงเพิ่มเติม รวมถึงการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์มากขึ้นและใช้หน่วยประมวลผลที่เร็วขึ้น” รศ. Suranga Nanayakkara อธิบาย

Mark Myres นักเรียน NUS ผู้ช่วยทดสอบ AiSee ในฐานะผู้ใช้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ให้ความเห็นว่า “หลายครั้งที่อุปกรณ์ช่วยเหลือดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่เฉพาะคนตาบอดหรือไปยังผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนตัวคิดว่า AiSee มีความสมดุลที่ดี ทั้งผู้พิการทางสายตาและคนตาบอดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์สามารถได้รับประโยชน์มากมายจากนวัตกรรมนี้”

สำหรับการทดสอบผู้ใช้และการปรับปรุงเพิ่มเติม รศ. Suranga Nanayakkara และทีมงานของเขากำลังหารือกับ SG Enable นหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านความพิการในสิงคโปร์ เพื่อทำการทดสอบกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยปรับแต่งและปรับปรุงฟีเจอร์ รวมถึงประสิทธิภาพของ AiSee ขณะที่ BP De Silva Holdings Pte Ltd (BPG) บริษัทจิวเวลรี่เก่าแก่ของสิงคโปร์ ยังได้มอบเงินทุนมูลค่า 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ฯ เพื่อสนับสนุนโครงการนี้

การตัดสินใจของ BPH ที่จะสนับสนุนการพัฒนา AiSee มีรากฐานมาจากความมุ่งมั่นของบริษัทในการรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมด้วยภารกิจที่กว้างขึ้นในการส่งเสริมการไม่แบ่งแยกและการเข้าถึง ความพยายามในการกุศลยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมและสร้างโลกที่เท่าเทียมและครอบคลุมมากขึ้น

Ms Ku Geok Boon ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SG Enable กล่าวว่า “โซลูชันที่เป็นนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้พิการนี้ สามารถเปลี่ยนชีวิตของบุคคลผู้ทุพพลภาพได้ ไม่ว่าจะสนับสนุนให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้นหรือลดอุปสรรคในการจ้างงาน ในฐานะหน่วยงานกลางและภาคส่วนที่ส่งเสริมความพิการและการไม่แบ่งแยกในสิงคโปร์ SG Enable มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่าง NUS และ BP De Silva Holdings Pte Ltd เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้พิการ”

นอกเหนือจากโครงการนี้ SG Enable ยังพยายามที่จะร่วมมือกับ NUS เพื่อสำรวจว่า AI อินเทอร์เฟซระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีช่วยเหลือสามารถให้ทางเลือกทางเทคโนโลยีแก่ผู้พิการได้อย่างไร 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าทั่วโลกมีคนอย่างน้อย 2,200 ล้านคน เป็นผู้ที่มีความบกพร่องในการมองเห็นทั้งระยะใกล้และไกล ซึ่งในจำนวนนี้อย่างน้อย 1,000 ล้านคน ความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถป้องกันได้หรือยังไม่ได้รับการแก้ไข

การสูญเสียการมองเห็นอาจส่งผลต่อคนทุกวัย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นและตาบอดส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปี ส่วนสาเหตุหลักของความบกพร่องทางการมองเห็นและการตาบอดในระดับโลกคือข้อผิดพลาดในการหักเหของแสงและต้อกระจก

มีการประมาณการว่าทั่วโลกมีเพียง 36% ของผู้ที่มีความบกพร่องในการมองเห็นระยะไกลเนื่องจากข้อผิดพลาดของการมองเห็น และมีเพียง 17% ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเนื่องจากต้อกระจกเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ในเชิงเศรษฐกิจ ความบกพร่องทางการมองเห็นก่อให้เกิดภาระทางการเงินมหาศาลทั่วโลก โดยต้นทุนการผลิตทั่วโลกต่อปีคาดว่าจะอยู่ที่ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/04/26/wearable-device-ai-for-blind/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210