เจาะโมเดลนวัตกรรมพลังงาน สร้าง Smart Energy City @ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

Loading

จนถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนได้ยินชื่อของ วังจันทร์วัลเลย์ กันเพิ่มมากขึ้นแล้ว เพราะนี่เป็นโครงการจัดตั้ง “เมืองนวัตกรรม” ที่ตั้งอยู่ใน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ซึ่งเป็นโครงการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สร้าง Innovation Ecosystem ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัฒนาตามแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 ด้าน โดยหนึ่งในนั้น คือ Smart Energy หรือ เมืองพลังงานอัจฉริยะ

โดยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ การผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งโครงการตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่

ปตท. ตลอดจนพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า จึงเปิดกว้างพร้อมให้บริการช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแก่ บริษัทเอกชน Start-up ผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประสบปัญหาด้านทรัพยากรในการวิจัยนวัตกรรมที่มีจำกัด รวมทั้งมีความพร้อมในการรับฟังปัญหา (Pain Point) เพื่อให้พันธมิตรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้วยภารกิจที่กล่าวมา ทำให้ วังจันทร์วัลเลย์ เป็นแหล่งรวมของสมาร์ทซิตี้ในหลายด้าน และ 1 ใน 7 ความสมาร์ทที่เห็นได้ชัด คือ การเป็นเมืองพลังงานอัจฉริยะอย่างที่เกริ่นมา โดยทุกโมเดลของการใช้พลังงานที่นี่ ล้วนตอบโจทย์ทั้ง พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และพลังงานแห่งอนาคตแทบทั้งสิ้น

วางโครงสร้าง โซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาด หมุนเวียนใช้ใน วังจันทร์วัลเลย์

“GPSC” หรือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ได้เข้ามาร่วมจับมือเป็นพันธมิตรกับวังจันทร์วัลเลย์ ด้วยการใช้พื้นที่ EECi  สร้างโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาด 0.5 เมกะวัตต์ ไว้สำหรับเป็นพลังงานสะอาดที่จะเข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านด้านการใช้พลังงานในรูปแบบปัจจุบัน

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก (Net Zero Carbon Emissions) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goal (SDGs) ของกลุ่ม ปตท.

ทั้งนี้ รูปแบบการผลิตพลังงานสะอาดด้วยโซลาร์เซลล์ในโครงการนี้ ติดตั้ง 2 รูปแบบ ก็คือ Solar Farm และ Solar Rooftops ที่มีขนาดรวมกันประมาณ 2.5 MW เพื่อเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยังมีแผนใช้พื้นที่ว่างในพื้นที่เฟส 2 เพื่อติดตั้ง Solar Farm เพิ่มอีก 2 MW สำหรับใช้บริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการด้วย

Smart Grid + Smart Meter + Energy Management สมการความมั่นคงของพลังงานใน วังจันทร์วัลเลย์

เมื่อโลกต้องการพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งแรกที่เรานึกถึงและหาได้ง่าย แต่การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในบางครั้งยังคงต้องใช้ต้นทุนที่สูงและไม่มีความเสถียรในการทำงาน รวมถึงกำลังการผลิตที่ไม่มากพอ ExpresSo กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันคิดค้นนวัตกรรมพลังงานสร้างสรรค์ จึงได้เข้ามาลุยในเรื่องนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

โดยได้ลงทุนในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) กับ Sunfolding บริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ลักษณะแกนเดียว (Technology Solar Tracker) เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ และช่วยลดการสูญเสียพลังงานในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการพัฒนาพลังงานสะอาดของ ปตท.

ทั้งนี้ อุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ที่ว่านี้สามารถคำนวณปรับแกนหมุนได้ตามทิศทางของดวงอาทิตย์ เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับพลังงานอย่างเต็มที่และช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวอุปกรณ์สามารถติดตั้งได้ในทุกสภาพพื้นที่ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

สำหรับข้อดีของอุปกรณ์ติดตามแสงอาทิตย์ (Technology Solar Tracker) มีดังนี้

  • ช่วยเพิ่มรายได้และผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุด สำหรับหน่วยงานและธุรกิจ
  • ลดค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาที่ต่ำ สำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ
  • สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15% ให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง

อีกทั้งในส่วนของการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ที่ได้นำเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับระบบไฟฟ้าที่ครอบคลุมขั้นตอนตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งและจำหน่ายไฟฟ้า จนถึงผู้ใช้งาน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ และครัวเรือน ตลอดจน Solar Farm ซึ่งจะช่วยให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์จะได้รับการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) เพื่อวัดผลการใช้พลังงานในแต่ละพื้นที่ และสามารถแสดงผลแบบ Real-time ให้กับหน่วยงานหรือฝ่ายต่างๆ ได้ทันที รวมถึงข้อมูลย้อนหลังได้ เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ปรับปรุง วางแผนการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบันอุปกรณ์ติดตั้งของ Sunfolding ตั้งอยู่ที่โซลาร์ฟาร์มของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) จังหวัดระยอง (บริษัทในเครือของ GPSC) ซึ่งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินของ Sunfolding มีประโยชน์อย่างมากสำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

เช่น การพัฒนาการเกษตร การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการพาณิชย์ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาดให้ยั่งยืน รวมทั้งสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อสังคมในอนาคตต่อไป

และอีกหนึ่งนวัตกรรม ที่หลายคนจะได้พบเห็นที่นี่แน่นอน นั่นคือ ระบบการเดินทางภายในเมืองเป็นไปในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรถประจำทางไฟฟ้า (EV Shuttle Buses) และการให้บริการ EV Charging Stations เพื่อสนับสนุนการเดินทางโดยใช้พลังงานทางเลือกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/02/15/smart-energy-city-wangchan-valley/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210