Upskill-Reskill ก้าวข้ามค่าแรงขั้นต่ำ

Loading

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ท่ามกลางความไม่สบายใจของนายกรัฐมนตรี ที่มองว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำ บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

นายกฯ ยกเหตุผลมาประกอบการพิจารณาว่า ตนเองเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ เพื่อหาตลาดให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงพยายามลดค่าไฟ ค่าน้ำมันและอีกหลายอย่าง ตามมาตรการของรัฐบาล จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ค่าแรงงานขั้นต่ำของคนไทย ต่ำติดดินแบบนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใกล้เคียง เช่น เกาหลี และสิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท

“เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการก็ควรที่จะทำไปพร้อมๆ กัน ถ้าทำเพียงฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ จะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสม แต่คงไม่ใช่การสั่งการ เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดตลาดมากขึ้น อยากขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับดักรายได้ต่ำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจำนวนมาก อาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายกฯ มองว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ซึ่งช่วยชดเชยค่าจ้างที่ปรับขึ้นได้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ นายกฯ บอกว่าต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง

“วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุนบริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็นนิมิตหมายอันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ” นายกฯ ยกเหตุผล

แนวคิดนี้ได้รับการสนองตอบจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเสนอควรปรับค่าแรงที่ 450 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้สามารถไต่บันไดไปสู่ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันในปี 2570 ได้ ซึ่งจะทำให้แรงงานมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตไปได้ ส่วนความกังวลของภาคธุรกิจเอกชนนั้น เมื่อรัฐบาลออกนโยบายมาแล้วต้องวางแผนดูแลทั้งภาคธุรกิจและลูกจ้างอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกัน กลไกไตรภาคีต้องพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

แต่สำหรับฝั่งผู้ประกอบการอย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรดำเนินการภายใต้กลไกไตรภาคี และหากขึ้นไม่ควรจะกระชากแรงจนกระทบต่อต้นทุน ผู้ประกอบการรับไม่ไหว สำหรับ 45 อุตสาหกรรมในสภาอุตสาหกรรมฯ มีประมาณ 25 อุตสาหกรรมที่จ่ายค่าแรงสูง 600-900 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นแรงงานที่พัฒนาทักษะ ส่วนอีก 20 อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จ่ายค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่อัตราเริ่มต้น 328 บาท สูงสุด 354 บาท หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท จากฐานต่ำสุด ภาคเอกชนมองว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงสูงถึงร้อยละ 19-20 และอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าแรง 354 บาทต่อวัน ต้นทุนจะสูงขึ้นร้อยละ 13  ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ทำให้ต้นทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นถูกกระชากอย่างรุนแรง กระทบธุรกิจ SMEs ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจถึงขั้นปิดกิจการได้ จึงไม่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน และยังไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

พร้อมกันนี้ ได้นำผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11–20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

เช่นเดียวกับ สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ อีคอนไทย มองว่าหากปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเพิ่มขึ้นวันละ 47 บาท หากนายจ้างที่จ้างงาน 100 คน จะมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นปีละ 1.7 ล้านบาท จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนของนายจ้าง โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนมากมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL บางรายกำลังปรับโครงสร้างหนี้ การปรับค่าจ้างที่ไม่เหมาะสมจะกระทบต่อธุรกิจ อาจสูญเสียความสามารถการแข่งขัน และอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้น

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังเป็นความต้องการที่สวนทางกันระหว่าง นายจ้าง กับ ลูกจ้าง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้เราเริ่มเห็นข่าวการปลดคนงานมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่อีกส่วนคือการที่หลายโรงงานหันไปใช้ระบบการผลิตแบบออโตเมชั่น นำหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเข้มข้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เพราะฉะนั้นการ “อัพสกิล-รีสกิล” ฝีมือแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การปรับค่าแรงขั้นต่ำ เพราะถ้าเราสามารถสร้างแรงงานทักษะสูง รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างสมดุล ปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงาน ไม่เกิดปัญหาตกงานเพราะเรียนไม่ตรงกับงาน ถึงวันนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำก็ได้ เพราะฝีมือแรงงานได้รับผลตอบแทนตามศักยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ประกอบการก็พร้อมจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และถ้าสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ ก็เท่ากับว่าได้ผลลัพธ์เชิงบวกเพิ่มขึ้นไปอีก

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/12/11/upskill-reskill-increase-the-minimum-wage/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210