ส่องอนาคตเมืองไทย กับระบบ IoT พัฒนาชีวิตคนไทยให้ดีและง่ายขึ้นกว่าที่เคย

Loading

ในงาน Next Step Thailand 2023 ได้มีพรรคการเมืองพูดถึงนโยบายที่เกี่ยวกับ IoT (Internet of Things) เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยให้วิถีชีวิตคนไทยดีขึ้น ซึ่ง นิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไอโอทีได้มีการให้สัมภาษณ์เพื่อคลายข้อสงสัยในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้

นิติ ได้เล่าถึงความเป็นมาของ IoT โดยแนะนำถึงความหมายของ IoT ก่อนเป็นอันดับแรก

IoT คืออะไร ทำความรู้จักเทคโนโลยีนี้กันก่อน

Internet of Things (IoT) คือ “อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง” หมายถึง การที่อุปกรณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆ ได้ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (การสั่งการเปิดไฟฟ้าภายในบ้านด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ควบคุม เช่น มือถือ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต) รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

เทคโนโลยี IoT เข้ามาพัฒนาชีวิตและประเทศไทย สามารถทำได้ในส่วนไหนบ้าง?

IoT ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงและนำมาใช้ได้เป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น การผลิตน้ำประปา สิ่งที่แตกต่างก็คือ IoT สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ง่ายและละเอียดกว่า ซึ่งจะกลายเป็น Big Data และนำมาวิเคราะห์ต่อเพื่อพัฒนาระบบได้ IoT จะสามารถเข้ามาช่วยปรับแต่งค่าสารเคมี คำนวณค่าตกตะกอน ความเป็นกรดเป็นด่าง และความสะอาดต่างๆ และกลายเป็นระบบที่บำบัดน้ำส่งออกสู่ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าหากจะเป็นภาพง่ายๆ มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ IoT สามารถสร้างระบบอัตโนมัติและควบคุมการผลิตได้แล้วในปัจจุบัน

ในส่วนของมิเตอร์ IoT ก็มีการใช้กันในหลายหน่วยงานแล้วในปัจจุบัน ซึ่งสามารถดูข้อมูลการใช้ไฟ , ใช้น้ำได้ผ่าน Smart Device เช่น โทรศัพท์สมาร์ทโฟน , หรือแท็บเล็ต แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านราคาที่สูงอยู่ อาจไม่เหมาะกับใช้ในครัวเรือน ซึ่งหากภาครัฐนำระบบ IoT มาปรับใช้ในการให้บริการสาธาณูปโภคกับประชาชน จะทำให้คนไทยสะดวกและง่ายต่อการจัดการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกค่าไฟ , ค่าน้ำอย่างละเอียดในครัวเรือน สามารถใช้ IoT เก็บข้อมูลในพื้นที่ต่างๆได้ เช่น พื้นที่ไหนใช้ไฟเยอะหรือไฟน้อย และเข้าพัฒนาแหล่งนั้นๆได้ง่ายขึ้น

IoT แบบไหนบ้าง? ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาเมืองและชีวิตคนไทย

ในมุมมองของภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาเก็บข้อมูลให้เป็น Big Data และจัดการบริหารพัฒนาเมืองและคุณภาพสาธารณูปโภคต่างๆได้ง่ายขึ้น หรือที่เรียกว่า Smart City ซึ่งประกอบไปกด้วย 7 ด้านด้วยกัน ดังนี้

  • สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

ซึ่งเทคโนโลยี IoT จะสามารถเก็บข้อมูลอากาศและมลภาวะ และเข้าไปแก้ไขปัญหาก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมในประเทศไทยดีขึ้น

  • การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

เพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

เช่น การบริการด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม ไปจนถึงการส่งเสริมให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม

  • พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

พัฒนาพลเมืองให้มีความรู้และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้นอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายทางสังคม

  • พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)

เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเมือง หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) เช่น เชื้อเพลงชีวมวล ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ เป็นต้น

  • เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างให้เกิดความเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้นวัตกรรม ในการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ (เช่น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เป็นต้น)

  • การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

มุ่งเน้นพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกจาก Smart City แล้วปัจจุบัน IoT ยังเข้ามาช่วยพัฒนาชีวิตผู้คนทั่วโลกได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแกดเจ็ตอย่าง Smart Watch ที่สามารถรู้สุขภาพของตัวเองได้แบบเรียลไทม์ กล้องวงจรปิดที่มีระบบเตือนภัยอัตโนมัติ ซึ่งอนาคตเราอาจนำเทคโนโลยีเหล่านี้เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลหรือสถานีตำรวจและเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออันตรายเราจะสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้นและป้องกันได้ก่อนเหตุการณ์อันตราย

สุดท้ายนี้บางคนอาจยังไม่รู้จักเทคโนโลยี IoT โดยละเอียด แต่ชีวิตคนไทยในปัจจุบันก็ได้มีโอกาสสัมผัส IoT ในชีวิตประจำวันไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เช่นการสั่งงานด้วยเสียง เช่น Siri , การสตาร์ทรถผ่านแอปพลิเคชั่น แต่หากประเทศไทยและภาครัฐและเอกชนนำระบบนี้มาใช้อย่างจริงจัง เชื่อว่าชีวิตคนไทยจะสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างแน่นอนในหลากหลายด้าน

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/833658


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210