อนาคตอุตสาหกรรมอวกาศ และประโยชน์จากดาวเทียม THEOS-2 ผีมือคนไทย ที่พร้อมปฏิบัติการกลางปี 65

Loading

หลังจากผ่านมา 4 ปีเศษ นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 อนุมัติการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ล่าสุด GISTDA ยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ดาวเทียม THEOS-2 ที่สร้างโดยคนไทยเสร็จตามแผนปลายปีนี้ พร้อมส่งขึ้นสู่อวกาศกลางปี 2565 โดยก่อนหน้าได้เริ่มออกแบบและพัฒนา ตั้งแต่ต้นปี 2562 โดยมีวิศวกรไทยกว่า 20 ชีวิตร่วมสร้างและออกแบบตั้งแต่แรก ซึ่งเมื่อดาวเทียมน้องใหม่นี้ขึ้นปฏิบัติการจะสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมอาวกาศของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

จากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ครอบคลุม 513,115 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 320 ล้านไร่ โดยมีปัญหาหลักทั้งบนพื้นที่สูง พื้นที่ราบ พื้นที่เขตเมือง และเขตอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง อาทิ การบุกรุกป่าไม้ ภัยแล้ง อุทกภัย ไฟป่า แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม การกัดเซาะชายฝั่ง การประมงผิดกฎหมาย มลพิษทางบกและทางทะเล ความแออัดของชุมชนเมือง การเก็บจัดภาษีท่ี่ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่หรือการใช้ประโยชน์ การเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบที่มนุษย์พัฒนาและสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือจากการจัดการในภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม จากความต้องการปฏิบัติภารกิจในด้านต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงเวลา ทําให้การสํารวจระยะไกลด้วยดาวเทียม จึงเป็นทางเลือกในลําดับต้นๆ เนื่องจากจะทําให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และมีความถี่ที่รวดเร็วตามที่ขีดความสามารถของอุปกรณ์ตรวจวัดสามารถทําได้ ทั้งยังมีศักยภาพและความสามารถในตรวจวัดเชิงพื้นที่ในวงกว้าง สามารถตรวจวัดพื้นที่ที่มีความอันตรายหรือพื้นที่ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสามารถตรวจวัดสิ่งต่างๆ โดยไม่จํากัดเพียงแต่สิ่งที่สายตามนุษย์สามารถตอบสนองได้เท่านั้น ซึ่งข้อมูลจากระบบสํารวจโลกด้วยดาวเทียมสามารถนํามาใช้ในการวางแผน สั่งการ ติดตามและ ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาดาวเทียมเป็นของตัวเอง จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่กล่าววมาได้อย่างยั่งยืน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า การดำเนินโครงการ THEOS-2 (Thailand Earth Observation System-2) มีความคืบหน้าที่น่าพอใจ โดยขณะนี้แล้วเสร็จไปกว่า 65% ของแผนงานที่วางไว้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมดวงใหม่ที่สร้างโดยฝีมือคนไทยได้ในไม่ช้านี้

ทั้งนี้ การดำเนินงานของดาวเทียมTHEOS-2 นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม และการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง โดยขณะนี้ดาวเทียมหลักกำลังอยู่ระหว่างการประกอบและทดสอบดาวเทียมให้เรียบร้อย จากนั้นในเดือนมิถุนายน 2564นี้ จะมีการตรวจสอบความพร้อมของดาวเทียมเพื่อการนำส่ง สำหรับดาวเทียมเล็ก อยู่ในขั้นของการตรวจสอบระบบก่อนนำไปทดสอบด้านสภาวะแวดล้อมในการทำงานจริง (Environment Test) ในช่วงกลางปีนี้ จากนั้นเมื่อทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว ดาวเทียมเล็กจะถูกส่งมาทดสอบเพิ่มเติมที่อาคารประกอบทดสอบดาวเทียม หรือ อาคาร AIT ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบดาวเทียมเล็กก่อนนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 14 เดือน สุดท้ายหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนดาวเทียมดังกล่าวจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2565 อย่างแน่นอน และจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 3 ปี

ดร.ปกรณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดาวเทียมเล็กเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกที่มีมาตรฐานในระดับ Industrial grade ที่สร้างโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน ซึ่งได้ร่วมออกแบบกับทางบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) สหราชอาณาจักร มาตั้งแต่ต้น โดยปฏิบัติงานอยู่ ณ เมืองกิลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสร้างตัวดาวเทียมที่มีขนาดประมาณ 100-110 กิโลกรัม

Surrey Satellite Technology Ltd. (SSTL) สหราชอาณาจักร

โดยเรื่องราวของ SSTL บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาดาวเทียมเล็ก เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาด ความทะเยอทะยาน และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมของอังกฤษ

ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 หรือราวช่วงยุค 2513 อุตสาหกรรมอวกาศเป็นพื้นที่การลงทุนของมหาอำนาจเพียงไม่กี่แห่งและจำกัดฉพาะประเทศที่ร่ำรวยที่สุด เนื่องจากมีความซับซ้อนและมีราคาแพง จึงไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ทุกประเทศจะเข้าถึงได้ง่ายๆ ดาวเทียมที่เปิดตัวในเวลานั้นใช้ส่วนประกอบที่ผลิตและทดสอบเป็นพิเศษ เพื่อให้ทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือในสภาพแวดล้อมบนอวกาศที่แปรปรวนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แต่ดาวเทียมในยุคนั้นก็ยังมีฟังก์ชันจำกัด เพราะไม่สามารถตั้งโปรแกรมใหม่ได้เมื่ออยู่ในวงโคจร

ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 กลุ่มนักวิจัยที่ทำงานที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (University of Surrey) ซึ่งนำโดย Martin Sweeting ได้ตัดสินใจที่จะทดลองโดยการสร้างดาวเทียมที่ใช้ซอฟท์แวร์สำเร็จรูป หรือ COTS (Commercial-off-the-shelf) ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งความคิดที่หาญกล้านี้ ได้สร้างผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ

Spacecraft Operation Center, SSTL

ดาวเทียมดวงแรก UoSat-1 ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลองขนาดเล็กของมหาวิทยาลัย และเปิดตัวเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การนาซ่า (NASA) ซึ่ง UoSAT-1 เป็นดาวเทียมขนาดเล็กที่สามารถตั้งโปรแกรมได้ใหม่และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีอายุการใช้งานยืนยาวมากกว่า 5 ปี มากกว่าแผนที่วางไว้ว่าจะมีอายุการใช้งาน 3 ปี  สิ่งสำคัญที่สุดคือทีมงานแสดงให้เห็นว่า ดาวเทียมที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและราคาไม่แพง สามารถสร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ซับซ้อนและประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

ในปี 1985 SSTL ก่อตั้งขึ้นเป็นบริษัท ที่แยกออกมาจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ เพื่อถ่ายโอนผลการวิจัยไปยังองค์กรเชิงพาณิชย์ จากนั้นบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ทำงานร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าจากต่างประเทศมากมาย โดยสร้างและเปิดตัวดาวเทียมกว่า 70 ดวง ใน 22 ประเทศในช่วง 3 ทศวรรษถัดมา

ในปี 2009 แอร์บัสได้ซื้อการถือหุ้นใหญ่จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ทำให้ SSTL สามารถเติมเต็มศักยภาพในการเติบโตได้ ปัจจุบัน SSTL เป็นบริษัทในเครือของแอร์บัส ที่แอร์บัสถือหุ้นทั้งหมด

โดยแนวทางใหม่ของ SSTL ในการออกแบบ สร้าง ทดสอบ และใช้งานยานอวกาศ คือการเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดาวเทียมขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักในนามของ “NewSpace”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่ชัดเจนที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยจะได้รับในครั้งนี้ก็คือ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลก

“เราได้ใช้ทุกๆ โอกาสจากที่ได้ไปอยู่ ไปฝึก ไปเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดในประเทศ ซึ่งเป็นการ Training for the trainer ในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเสริมสร้างกำลังคนไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านอวกาศได้เอง โดยใช้บุคลากรไทยและองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทยได้อย่างภาคภูมิใจ”

ไม่เพียงแต่จะมีภารกิจในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น แต่ดาวเทียมเล็กดวงนี้ยังทำหน้าที่เสริมการบันทึกภาพบนพื้นผิวโลกให้กับดาวเทียมดวงต่างๆ ที่ GISTDA ให้บริการ เพื่อเป็นการเพิ่มฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ อีกมากมาย

GISTDA ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) ของประเทศ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 New S-Curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตของประเทศไทย ที่รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังและมีแบบแผน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศ กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งการกระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางสังคม

โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้ง GISTDA ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน พ.ศ. 2543 ภายใต้วิสัยทัศน์ “นำคุณค่าจากอวกาศเพื่อพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน” คือ

  1. พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้เป็นความรู้ที่ไร้พรมแดนและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม
  2. ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติจากข้อมูลดาวเทียม
  3. ให้บริการข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งรวมทั้งบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง
  4. ให้บริการให้คำปรึกษาและพัฒนาบุคลากรในด้านสำรวจข้อมูลจากระยะไกลด้วยดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ
  5. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา และดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาและสร้างดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติขนาดเล็กเองได้
  6. เป็นหน่วยงานหลักกำหนดมาตรฐานกลางสำหรับระบบสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศที่เหมาะสม

นอกจากนี้ GISTDA ยังดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้ คือ เสริมสร้างสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสำรวจโลก พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้งาน ขับเคลื่อนประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระดับประเทศ พัฒนาธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตร เชื่อมโยงอาเซียนด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ตลอดจนพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กร

นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวของ THEOS-2 แล้ว อุตสาหกรรมอวกาศบ้านเรายังมีความคืบหน้าเป็นลำดับจากภาคเอกชนด้วย เช่น บริษัท คาร์บอน เมจิก (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CMTH หนึ่งในเอกชนที่บทบาทในการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานในประเทศไทย Clustering Aerospace และความร่วมมือในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในอนาคต จากการที่ CMTH เข้าร่วมโครงการ In-country Manufacturing program ของ GISTDA เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านมาตรฐานและเทคนิคการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม และเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม Aerospace อย่างเต็มตัว

โดยบริษัท CMTH มีความเชี่ยวชาญ ด้านการออกแบบแม่พิมพ์ ด้านการผลิตชิ้นส่วนโดยใช้วัสดุผสม (composite) ด้านการทดสอบ และด้านระบบที่ใช้ติดตาม เก็บข้อมูล ตรวจสอบคุณภาพการผลิตชิ้นส่วน (Inspection) โดยแยกประเภทการของผลิตภัณฑ์ตามรายการต่อไปนี้คือ ที่นั่งในชั้นธุรกิจของเครื่องบิน ชิ้นส่วนของโดรน ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ที่นั่งในรถไฟ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอุปโภคอื่นๆ เช่น กรอบแว่น, ฝากล้องวิดีโอ เป็นต้น

นอกจากนี้ทางบริษัทฯ กำลังลงทุนโรงงานและเครื่องจักเพื่อผลิตขิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศโดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 1-2 ปี

ทั้งนี้ บริษัท คาร์บอน เมจิก (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นตั้งอยู่อีกหลายบริษัท และเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ที่มา :

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

We Have Been Buiding World-Leanding Small Satellites For 40 Years

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/14/theos2-space-idustry-thailand/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210