โลกพึ่งพาวิทยาศาสตร์ สู้ ‘ปัญหาขยะอาหาร’

Loading

ปัญหาขยะจากเศษอาหารเป็นประเด็นที่ทั่วโลกพยายามแก้ไข ซึ่งผู้ประกอบการกลับมาเปิดตำราวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้มากขึ้น บรรดาร้านอาหาร ร้านขายของชำ เกษตรกร และบริษัทอาหารต่างหันมาใช้วิธีทางเคมีและฟิสิกส์ในการจัดการกับปัญหาขยะอาหารกันมากขึ้น

บางแห่งทดลองใช้วิธีการฉีดสเปรย์ลงไปที่เปลือกหรือซองบรรจุภัณฑ์เพื่อชะลอการสุกของผลไม้ บ้างก็มีการพัฒนาเซ็นเซอร์ดิจิทัลที่สามารถบอกได้แม่นยำกว่าฉลากทั่วไปถึงระยะเวลาที่ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์ และซองที่ติดอยู่ด้านบนของกล่องอาหารสำหรับซื้อกลับบ้านที่มีเทคโลโนยีเทอร์โมไดนามิกส์เพื่อให้ของทอดยังคงกรอบอยู่

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับขยะอาหารและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งในรูปของจำนวนเงินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้นำไปสู่ความพยายามที่จะบรรเทาปัญหาดังกล่าว

ReFed กลุ่มผู้ศึกษาในเรื่องของขยะจากเศษอาหารเผยว่า บริษัทสตาร์ทอัพด้านขยะอาหารในสหรัฐฯ ระดมทุนได้ 4,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 มากกว่าที่ระดมทุนได้ในปี 2020 ถึง 30%

เอลิซาเบธ มิทชุม (Elizabeth Mitchum) ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยี Postharvest Technology Center แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ซึ่งทำงานด้านนี้มาสามทศวรรษกล่าวว่า “เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ได้ความสนใจอย่างมากในทันที” แม้แต่บริษัทที่ทำธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

รายงานของ ReFed ระบุว่า ในปี 2019 ราว 35% ของอาหาร 229 ล้านตันที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 418,000 ล้านดอลลาร์ ไม่มีคนซื้อหรือนำไปรับประทาน ทั้งนี้ ขยะอาหารเป็นวัสดุประเภทใหญ่ที่สุดที่ถูกนำไปจำกัดยังหลุมฝังกลบ ตามรายงานของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่าอาหารที่เน่าเปื่อยจะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

ReFed คาดว่าอาหารในปริมาณปีละ 500,000 ปอนด์ หรือ 225,000 กิโลกรัม อาจไม่ต้องมีจุดจบที่หลุมฝังกลบหากใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

ในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่กำลังมีการพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ เซ็นเซอร์ของบริษัท Innoscentia ในสตอกโฮล์ม ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเนื้อสัตว์มีความปลอดภัยหรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับการสะสมของจุลินทรีย์ในบรรจุภัณฑ์ และ Ryp Labs ในสหรัฐฯ และเบลเยียมกำลังผลิตสติ๊กเกอร์สำหรับพืชผักผลไม้ที่จะปล่อยไอที่มีสารเพื่อชะลอการสุกออกมา

นอกจากนี้ยังมี SavrPak ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยบิล เบอร์เก็น (Bill Birgen) วิศวกรการบินที่เบื่อหน่ายกับอาหารแฉะ ๆ ในกล่องอาหารกลางวัน เขาได้พัฒนากล่องเล็ก ๆ ที่ทำจากพืชซึ่งผลิตด้วยวัสดุที่มีความปลอดภัยต่ออาหารที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใส่ลงในภาชนะสำหรับซื้อกลับบ้าน ช่วยให้อาหารภายในร้อนและกรอบมากขึ้น

ทางด้าน Hattie B’s เครือร้านไก่ทอดในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี ยังไม่ค่อยแน่ใจในผลิตภัณฑ์เหล่านี้นัก แต่หลังจากที่ได้ทดสอบใช้เซ็นเซอร์วัดความชื้นของ SavrPaks แล้ว ก็ได้นำมาใช้ในการใส่อาหารทอดสำหรับจัดส่ง และกำลังทำงานร่วมกับ SavrPak เพื่อนำผลิตภัณฑ์นี้ไปใช้กับภาชนะที่ซื้อกลับบ้านอีกด้วย

ไบรอัน มอริส (Brian Morris) รองประธานฝ่ายการเรียนรู้และพัฒนาการทำอาหารของ Hattie B กล่าวว่า SavrPak แต่ละชิ้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 1 ดอลลาร์แต่รับประกันได้ว่าจะช่วยทำให้อาหารห่อกลับบ้านมีคุณภาพที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับบางบริษัทและผู้บริโภค อย่างกรณีของ Kroger เครือร้านขายของชำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ยุติการเป็นหุ้นส่วนที่มีระยะเวลาหลายปีกับบริษัท Apeel Sciences ในแคลิฟอร์เนียในปีนี้ เนื่องจากพบว่าผู้บริโภคไม่ต้องการที่จะจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ทาหรือพ่นด้วยสารเคลือบที่ทานได้ของ Apeel เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปและขับออกซิเจนออกมา ซึ่งจะช่วยยืดเวลาให้พืชผักผลไม้ยังคงความสดเอาไว้

Apeel กล่าวว่าอะโวคาโดที่ผ่านการเคลือบแล้วสามารถอยู่ได้นานขึ้นอีก 2-3 วัน ในขณะที่ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ สารเคลือบดังกล่าวทำจากโมโนและไดกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นอิมัลซิไฟเออร์บริสุทธิ์ในวัตถุเจือปนอาหารทั่วไปที่บริโภคได้

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอุปสรรคใหญ่อีกประการในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อถนอมอาหาร นั่นคือการที่ ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดมีส่วนประกอบทางชีวภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างในการจัดการกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อีกทั้งบริษัทต่าง ๆ ยังไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีอาหารระหว่างกัน

แรนดี้ โบดรีย์ (Randy Beaudry) ศาสตราจารย์ภาควิชาพืชสวนแห่งคณะวิชาการเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตทกล่าวว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ให้ดีขึ้นได้ทันที”

แม้วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทและให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเท่านั้น อิเว็ตต์ คาเบรลา หัวหน้าฝ่ายขยะอาหารจาก Natural Resources Defense Council ชี้ว่า ขยะอาหารส่วนใหญ่มาจากระดับครัวเรือน และว่าสังคมโดยรวมไม่ให้คุณค่ากับอาหารมากเท่าที่ควรจะเป็น

คาเบรลา แนะว่า การลดขนาดของเมนูอาหาร การซื้อน้อยลงในแต่ละครั้ง หรือการปรับปรุงคุณภาพและความแม่นยำของฉลากอาหารจะช่วยได้มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีเสียอีก

แหล่งข้อมูล

https://www.sanook.com/hitech/1573753/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210