เทคโนโลยีไร้สัมผัส เทรนด์ชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด

Loading

เรียกได้ว่าไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาโจมตีและสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตลักษณะใหม่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะการที่ทุกคนจะต้องตระหนักในเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพ การสวมหน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หรือแม้กระทั่งการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ แต่อย่างไรก็ดีได้มีการคาดการณ์ว่าแล้วหลังจากนี้ล่ะ วิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีของผู้คนจะเป็นอย่างไร ?

ซึ่งทุกคนต่างยอมรับกันว่า เทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญที่สุดตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปก็คือ “เทคโนโลยีไร้สัมผัส” นั้นเอง โดยนิตยสาร Strategy+business ของ PwC ได้กล่าวถึง 3 เทคโนโลยีไร้การสัมผัสที่น่าจับตามอง ได้แก่

  • เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech recognition)
  • เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial recognition)
  • สกุลเงินดิจิทัล (Digital money)

ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีเหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19โดยตรง แต่ทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ ถือเป็นสิ่งที่มีส่วนช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของร่วมกัน จึงลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

1. เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech recognition)

สำหรับเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง ถือเป็นสิ่งที่ผู้คนได้มีการใช้งานกันมาแล้วพอสมควร ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น ในโปรแกรม Siri บนไอโฟน หรือ Alexa ซึ่งเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ซึ่งได้มีการพัฒนาไปอย่างช้า ๆ จนกระทั่งในปี 2553 เมื่อเทคโนโลยีแวดล้อมเนื่องอำนวยมากขึ้น ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงระบบคลาวด์ การตีความคำสั่งและการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่จากศูนย์กลาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรที่ทำให้เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด

โดยปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่สามารถสั่งการด้วยเสียงและมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง เช่น ลิฟต์อัจฉริยะ ตู้ขายสินค้าอัจฉริยะ เพราะถือเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุร่วมกัน และเชื่อได้ว่าในอนาคตแม้สถานการณ์โควิดจะผ่านพ้นไป แต่รูปแบบของเทคโนโลยีนี้จะยังคงอยู่ เพราะตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบาย ความปลอดภัย สุขอนามัย นั้นเอง

2. เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial recognition)

ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่มักจะถูกกล่าวถึงในแวดวงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เสมอ เนื่องจากสามารถนำเอาระบบไปประสานและประยุกต์กับงานได้อย่างหลากหลายประเภทงาน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 แต่ก็เช่นเดียวกันคือด้วยบริบทของเทคโนโลยีแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าวไม่เอื้อต่อการพัฒนามากนัก จนกระทั่งในปี 2560 Apple ได้ออกสมาร์ทโฟนซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยโดยการปลดล็อกโทรศัพท์ด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า ซึ่งถือเป็นวิธีการใหม่ที่ล้ำหน้ากว่าการใส่รหัสผ่าน ซึ่งถือว่าถูกใจผู้ใช้งานเป็นอย่างดีและได้สร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

และหลังจากการระบาดของโควิด-19 บริษัทในประเทศจีนได้มีการพัฒนาระบบจดจำใบหน้าซึ่งนำมาประสานการทำงานควบคู่ไปกับระบบตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อง่ายต่อการระบุตัวตนและวัดไข้ได้ในระยะ 15 ฟุต นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ประสานเชื่อมโยงเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย และถูกนำไปติดตั้งในหลาย ๆ สถานที่ เช่น ในสนามบินหลายแห่ง ทั้งสิงคโปร์ อเมริกา ก็ได้มีการใช้ระบบจดจำใบหน้ามาแทนการสแกนลายนิ้วมือในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 จะมีการใช้ระบบตู้ ATM ที่ตรวจสอบใบหน้าแทนการกดรหัสด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการสัมผัสวัตถุสิ่งของร่วมกัน

3. เงินดิจิทัล (Digital money)

ปัจจุบันนี้ระบบธุรกรรมการเงินถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าการไปธนาคารถือเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับคนยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ Mobile Banking หรือระบบสแกนเพื่อจ่ายเงินเท่านั้น แต่ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลนั้น ได้ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจระบบการเงินและสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล การซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์ การรูดบัตรเครดิตผ่านระบบออนไลน์ การเกิดขึ้นของระบบชำระเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple pay, Google pay, Ali pay เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีผู้ใช้งานระบบเงินดิจิทัลเป็นประจำถึง 1,300 ล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุด้วยว่าในธนบัตร 1 ใบ ที่สัมผัสมือใครต่อใครมาหลายทอดนั้น ถือเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียมากกว่า 26,000 ตัวเลยทีเดียว ดังนั้นการหันมาใช้ระบบธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ซึ่งทำให้เราหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เรามีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาด การใช้เงินดิจิทัลจึงเป็นทางออกของทั้งผู้ขายและลูกค้า

อะไรจะเกิดขึ้นหลัง New Normal

ซึ่งถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสผ่านพ้นไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้คนได้หันเหวิถีชีวิตเข้าสู่เทคโนโลยีอย่างมากเกินกว่าที่จะกลับไปอยู่ในจุดเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ จึงควรปรับปรุงการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

เรียบเรียงโดย
Smart City Thailand

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.thairath.co.th


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210