เกษตรกร EEC สร้างสรรค์พืชพื้นบ้านสู่ New S-Curve

Loading

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการพัฒนา มิได้จำกัดอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการเท่านั้น แต่รวมถึงภาคการเกษตรด้วย ซึ่งครม.ได้เห็นชอบ แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายยกระดับภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรให้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ

รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการเกษตร ให้มีรายได้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทำพื้นที่ EEC ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ โดยคาดหวังอัตราการขยายตัวมูลค่าผลผลิตมวลรวมภาคเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 3.5 ต่อปี และอัตราการขยายตัวรายได้เกษตรต่อแรงงานเกษตรของอีอีซี ร้อยละ 6.5 ต่อปี

ผลไม้เด่นๆที่เราคุ้นเคยในรูปแบบการบริโภค ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด และ เงาะ จะใช้นวัตกรรมเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่ม นำเปลือกมาสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น

อีอีซี กำหนดโรดแมปการพัฒนาพื้นที่กลุ่มคลัสตอร์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาด ประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ คือ

  1. ผลไม้
  2. ประมง
  3. เกษตรมูลค่าสูง
  4. พืชสมุนไพร และ
  5. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ

ยกตัวอย่างการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ประเทศก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตพืชสมุนไพร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ลงนามความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พัฒนาพืชสมุนไพรครบวงจรในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่อีอีซี มีกฎหมายรองรับ สร้างวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ สร้างเครือข่ายงานวิจัย พัฒนาสินค้าสมุนไพรให้ตรงตามความต้องการตลาด รวมถึงยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ว่านนางคำและขิง รวมถึงเพิ่มมูลค่าเปลือกทุเรียน มังคุด และ เงาะ โดยวิธีสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

หรือในกลุ่มสินค้าผลไม้ ทางสกพอ. และบริษัท ปตท. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ซึ่งคือโครงการลงทุนตลาดกลางผลไม้และดิจิตอลแพลตฟอร์ม ครอบคลุมการบริหารจัดการกระบวนการผลิต การทำแพลตฟอร์ม e-commerce และ e- auction การรับรองมาตรฐานเพื่อรองรับการซื้อขายกับต่างประเทศ พร้อมทั้งระบบการขนส่งสินค้าโดยกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานซึ่งมีขนาดห้องเย็นจุผลไม้ได้ถึง 10,000 ตันอยู่บริเวณใกล้แหล่งปลูกทุเรียน เพื่อเป็นกลไกในการรักษาสมดุลด้านราคาของตลาดผลไม้ (ทุเรียน) อย่างยั่งยืน คาดว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนธันวาคมปีนี้

โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการเกษตรให้มีรายได้เทียบเท่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทำพื้นที่ EEC ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามกรอบแนวคิดตลาดนำการผลิต และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหารากเหง้าการเกษตร โดยสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ประมง พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ พืชสมุนไพร และสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/08/22/eec-farmers-create-native-plants-for-the-new-s-curve/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210