ยืมมือนาโนเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมพลิกฟื้นการท่องเที่ยว จ.ระยอง ดึงความเชื่อมั่นสู่การเที่ยววิถีใหม่

Loading

นับแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น จังหวัดระยอง ดูจะเป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดนี้หลายต่อหลายครั้ง โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาในวันนี้ แม้ว่าวิกฤตยังไม่ผ่านพ้นไป แต่มีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้น เมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงหอการค้าจังหวัด ได้มาหารือร่วมกัน ถึงสถานการณ์และประสบการณ์การใช้นวัตกรรม นาโนเทคโนโลยี มาพลิกฟื้นการท่องเที่ยว จ.ระยอง

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในจังหวัดระยอง โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและมีแนวโน้มนำมาใช้ได้ทันทีคือ ‘ซิงก์ไอออนฆ่าเชื้อโรค’ ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีนาโนเทคในการฆ่าเชื้อ สร้างความมั่นใจให้ทุกแหล่งท่องเที่ยวในระยอง

ใช้หลัก นาโนเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมแห่งความหวัง นำการท่องเที่ยววิถีใหม่แบบปลอดเชื้อ

ก่อนจะไปพูดถึงการปรับเอา นาโนเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม ‘ซิงก์ไอออนฆ่าเชื้อโรค’ พลิกฟื้นการท่องเที่ยว จ.ระยอง เชื่อว่า หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว นาโนเทคโนโลยี คืออะไร เข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมช่วยฆ่าเชื้อโรคได้อย่างไร

จากบทความเรื่อง “นาโนเทคโนโลยีเทคโนโลยีในศตวรรษที่21” โดย สมนึก บุญพาไสว ได้ให้ความรู้เบื้องต้น เพื่อการทำความเข้าใจ “นาโนเทคโนโลยี” ไว้ว่า

“นาโนเทคโนโลยี” หมายถึงเทคโนโลยีประยุกต์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการ การสร้าง การสังเคราะห์วัสดุหรืออุปกรณ์ในระดับของอะตอม โมเลกุลหรือชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กในช่วงประมาณ 1 ถึง 100 นาโนเมตร ซึ่งจะส่งผลให้วัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ มีหน้าที่ใหม่ๆ และมีคุณสมบัติที่พิเศษขึ้นทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้มีประโยชน์ต่อผู้ใช้สอยและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้”

โดยการคิดค้นงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในการแพทย์และสาธารณสุข พบว่าพฤติกรรมระดับโมเลกุล ที่สเกลนาโนเมตรเป็นตัวควบคุมระบบของสิ่งมีชีวิต นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาชีววิทยา เคมีฟิสิกส์และคอมพิวเตอร์ได้ร่วมกันค้นคว้าวิจัย ทําให้เทคโนโลยีชีวภาพระดับนาโน (nanobiotechnology) มีความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ความสําเร็จทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีมากกว่า 10 ปี

ที่ผ่านมา มีการสร้างหุ่นยนต์นาโนจากโปรตีนที่สามารถติดตามอาการผิดปกติของเซลล์และใช้เครื่องมือดังกล่าวในการรักษาโรคในระดับเซลล์หรือโมเลกุล การใช้หุ่นยนต์นาโนในการป้องกันเชื้อโรค ซ่อมแซมผนังเซลล์รักษาอาการไขมันอุดตันในเส้นเลือดหรือการสร้างหุ่นยนต์นาโนที่สามารถเคลื่อนที่ในกระแสเลือดเพื่อเข้าทําลายเชื้อโรคหรือเซลล์มะเร็งในร่างกายโดยที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดที่เสี่ยงอันตราย นอกจากนั้นยังสามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาทดแทนได้ง่ายขึ้นด้วย

นอกเหนือจากการรักษาโรคแล้ว นาโนเทคโนโลยียังมีการพัฒนา ดีเอ็นเอชิป (DNA chip) ซึ่งเป็นไมโครชิปชนิดหนึ่งที่ใช้ค้นหายีนของสิ่งมีชีวิต สร้างขึ้นมาโดยใช้กระบวนการที่ใกล้เคียงกับการสร้างไมโครชิปคอมพิวเตอร์บนผิวของ ดีเอ็นเอชิป

โดยดีเอ็นเอชิปแต่ละแผ่นจะฉาบด้วยดีเอ็นเอสังเคราะห์ที่เป็นสายเดียวและมีลักษณะเหมือนกับ ดีเอ็นเอ สภาพปกติ ดีเอ็นเอชิป นี้ใช้สําหรับวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมทําให้สามารถทํานายการเกิดโรคของบุคคลหนึ่งๆ ก่อนที่อาการของโรคจะปรากฏ

นอกจากนั้นยังใช้เพื่อหาการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย เพื่อค้นหายีนที่อาจก่อให้เกิดโรคในอนาคต

สรุปแล้ว ความก้าวหน้าทางนาโนเทคโนโลยีส่งผลดีต่อการแพทย์และสาธารณสุขในด้านต่างๆ ดังนี้

  • รักษาโรคได้รวดเร็วขึ้น โดยประสิทธิภาพของ ดีเอ็นเอชิป
  • รูปแบบการให้ยาแบบใหม่จะเพิ่มศักยภาพในการรักษา โดยการให้ยาในรูปแบบใหม่สามารถส่งขาเข้าไปในร่างกายไปในบริเวณที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงได้
  • พัฒนาอวัยวะประดิษฐ์จากวัสดุที่สามารถอยู่ร่วมกับเนื้อเยื่อได้ทําให้มีความทนทาน และไม่ถูกปฏิเสธหรือต่อต้านจากร่างกาย
  • ระบบการรับรู้จะมีการตรวจจับเชื้อโรคที่ปรากฏขึ้นในร่างกายสิ่งมีชีวิต และเปลี่ยนจากการรักษาเยียวยามาเป็นการตรวจพบและป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น

ต่อยอด นาโนเทคโนโลยี เดินหน้าสร้างนวัตกรรมดึงความเชื่อมั่นสู่การเที่ยววิถีใหม่ สบายใจ ปลอดเชื้อ

ดังที่เกริ่นมาแล้วว่า ล่าสุดมีเรื่องที่น่ายินดีเกิดขึ้น เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้เปิดเวทีพูดคุยในประเด็น “นวัตกรรมซิงก์ไอออนฆ่าเชื้อโรค: ตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว”

ในโอกาสนี้ยังมี หอการค้าจังหวัดระยอง ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชน มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเปิดทางสู่การนำนวัตกรรม นาโนเทคโนโลยี มาพลิกฟื้นการท่องเที่ยว จ.ระยอง ร่วมกัน

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า

“งานวิจัยที่ใช้แก่นความรู้เรื่องของนาโนเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรม สามารถตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพการแพทย์ ภายใต้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของประเทศ ซึ่งศาสตร์นาโนเทคโนโลยีเป็นการมองลึกลงไปในระดับโมเลกุล ระดับนาโนเมตร”

“จึงกล่าวได้ว่านาโนเทคโนโลยีเป็นศาสตร์เล็กที่ไม่เล็ก เพราะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ซึ่งมีประโยชน์ต่างๆ มากมาย อาทิ งานด้านสมุนไพรไทยที่ตอบแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 โดยนาโนเทคใช้เทคโนโลยีการกักเก็บ ห่อหุ้ม สารสกัดหรือสารออกฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม สามารถนำส่งไปยังจุดหมายปลายทางที่สามารถดูดซึมได้ดี อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันเมล็ดงาม้อน”

จนกระทั่ง วิกฤตโควิด-19 ได้มาจู่โจมทุกภาคส่วนของประเทศไทย รวมถึงเศรษฐกิจโลก ทางส่วนงานวิจัยนาโนเทค ที่ทาง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ รับผิดชอบ จึงได้คิดค้นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองวิกฤตโควิด-19 ของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด

“มหาวิกฤตโควิด-19 เป็นความท้าทาย ไม่เฉพาะของเรา แต่ทั้งโลก นาโนเทคเอง พยายามทุ่มเททำงานเพื่อตอบโจทย์โควิด-19 ดังเช่น เบนไซออน ที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนคีเลตจากซิงค์ไอออน ที่มาจากอาหารเสริมสัตว์ โดยที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ อีกมาก”

ด้าน ธนิชญา ชินศิรประภา รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ได้ฉายภาพให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดระยองในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลให้คนในจังหวัด และในระดับชาติว่า

“จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ โอกาสที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวง่ายและสะดวก ดังนั้น ระยองจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่เข้าถึงง่ายทั้งวันหยุดระยะสั้น ระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งทะเล สวนผลไม้ หรือแหล่งเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจของระยองจึงมีจุดเด่นเป็นแหล่งธรรมชาติ ทั้งทะเล ภูเขา และเกษตร ไม่ใช่แค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น”

นอกจากด้านการท่องเที่ยว รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้มีคนเดินทางมาที่ระยอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อดูงานและมาจับจ่ายใช้สอยในฐานะนักท่องเที่ยวเมื่อสิ้นสุดงานด้วย

“สถานการณ์ของระยองก่อนโควิด-19 ในปี 2562 การท่องเที่ยวของระยองดีมาก มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านคน โดยกว่าครึ่งหรือ 1.6 ล้านคน อยู่ที่เกาะเสม็ด แต่เมื่อเกิดโควิด นักท่องเที่ยวเหลืออยู่เพียง 20% ที่เกาะเสม็ด แต่ในตัวเมือง เหลือไม่ถึง 10%”

“ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2563 คนในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ต่างพยายามรักษามาตรฐานของพื้นที่ของตนให้พร้อม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทย ทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลและประเทศอีกด้วย”

ต่อมา รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ยังชี้ว่า “จุดนี้เป็นระลอกที่ 3 ของทั้งประเทศ แต่สำหรับระยอง นับเป็นระลอก 4 เราเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า แทบจะเดือนเว้นเดือน ดังนั้น หอการค้าจังหวัดระยองได้ร่วมกับภาครัฐจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้มีความมั่นใจ กล้าที่จะใช้จ่าย”

แชร์ประสบการณ์ผู้ประกอบการระยอง พร้อมปรับตัวด้วยนวัตกรรม

มาทางฝั่งผู้ประกอบการ ที่ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ผ่านเวทีพูดคุยในครั้งนี้ เริ่มจาก สุดชาย สิงห์มโน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ห้างแสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่มาเป็นตัวแทนของธุรกิจค้าปลีกในจังหวัดระยอง กล่าวว่า

“การค้าปลีก เป็นชีวิตประจำวันของคนเรา เพราะระยองมีคนท้องถิ่นราว 7 แสนคน มีคนที่มาทำงานอีกราว 8 แสนคน ดังนั้น เมื่อโควิดมา นักท่องเที่ยวหาย กลุ่มผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ก็กระทบ รวมมาถึงค้าปลีก ที่โดนผลกระทบเช่นกัน เพราะเมื่อคนมีรายได้น้อย กำลังซื้อก็น้อยลง แต่ก็ยังมี เพราะแม้เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป เรายังคงมีกลุ่มคนที่อยู่ในระยองมาอุดหนุน”

“จนที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสรู้จักกับทีม สวทช. ที่นำผลงานวิจัยมาช่วยภาคธุรกิจของจังหวัดระยอง ผ่านทางหอการค้าจังหวัดระยอง โดยหนึ่งในนั้นก็มี เบนไซออน ซึ่งก็ได้นำไปทดลองใช้ฉีดพ่น เช็ดทำความสะอาด ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เขาใช้กันปกติ โดยไม่มีกลิ่นกวนใจ ก็น่าสนใจ และต่อยอดนำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเบนไซออนไปวางจำหน่ายในห้าง รวมถึงมีการฉีดพ่นที่เทศบาล รวมถึงส่วนของห้องประชุมต่าง ๆ ของหอการค้าอีกด้วย”

ต่อมา ธนากร ตั้งเมธากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์เบนไซออน กล่าวว่า

“บริษัทได้ร่วมมือกับนาโนเทค และ ดร.วรายุทธ สะโจมแสง เจ้าของงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และมองเห็นโอกาส ด้วยมีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นพิษ เมื่อย่อยสลายแล้วสามารถเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ ได้ จึงต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน”

ที่ผ่านมา พัฒนาผลิตภัณฑ์เบนไซออน สามารถตอบโจทย์ของของโรคระบาด โดยมีการนำไปใช้ในหลายพื้นที่ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน เทศบาล ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ สามารถตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย และประสิทธิภาพ ที่มีผลการทดสอบที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

รวมมุมมอง ที่เห็นตรงกันว่า วิกฤตโควิด เป็นโอกาส นำมาซึ่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีต่อสังคมไทย

เมื่อพูดถึงประเด็นของ “นวัตกรรมจากนาโนเทค” ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด ดร.วรรณี มองว่าจะเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือและความเชื่อมั่นของผู้วิจัยพัฒนา ที่ทำงานและพร้อมจะหยิบจับเอามาใช้ตอบโจทย์ในภาวะวิกฤตต่างๆ

“เพราะการนำนวัตกรรมไปใช้ จำเป็นต้องมีคนที่เชื่อเหมือนกันและนำงานวิจัยไปสู่ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปสู่เชิงพาณิชย์ ให้โอกาสนวัตกรรมที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองไปใช้ และต้องการการสื่อสารให้คนรู้จักและเข้าใจ สิ่งสำคัญคือ ความรวดเร็วในการทำงานให้ทันสถานการณ์”

ส่วน รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง ได้กล่าวเสริมว่า การนำนวัตกรรมมาใช้ในวิกฤต ถือว่า สำคัญมาก เพราะระยองไม่ได้มีแค่นักท่องเที่ยว แต่มีคนที่มาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก การสร้างความมั่นใจให้บุคคลต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น

“คนไทยจำนวนมากมองว่า โควิด-19 เป็นสิ่งที่น่ากลัวและพยายามวิ่งหนี แต่เราไม่ได้มองว่า เราจะอยู่กับมันอย่างปลอดภัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อธุรกิจไม่เพียงแค่การท่องเที่ยว แต่เป็นทั้งซัพพลายเชน”

“ทุกคนต้องรู้ว่า วิกฤตมาแล้วเราจะอยู่กับมันอย่างไร สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้มาประชุมสัมมนา การนำนวัตกรรมมาใช้สร้างความเชื่อมั่นจะมีผลที่ดีต่อภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว” ธนิชญา กล่าว

ด้านผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้นวัตกรรมเบนไซออนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ธุรกิจ สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า อย่างห้างแสงทองซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สุดชาย มองว่า

“สิ่งสำคัญ คือ การเข้าถึงนวัตกรรมของไทย ซึ่งถ้าผมไม่รู้จัก สวทช. และไปเจอผลิตภัณฑ์แบบนี้ คงไม่แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์จะปลอดภัยหรือได้มาตรฐานหรือไม่ แล้วจะติดต่อใคร จะใช้งานอย่างไร ดังนั้น ถ้าภาครัฐควรมีการรวบรวมข้อมูลที่ผู้ประกอบการหรือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล โดยมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้ประชาชนกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอยได้ตามปกติ”

“แม้ว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเปลี่ยนไป ช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีคนที่ยังอยากออกมาเลือก ออกมาหยิบจับซื้อของ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ต้องการข้อมูลมาสนับสนุน ดังนั้น หากมีหน่วยงานภาครัฐที่นำนวัตกรรมมานำเสนอ มีการสนับสนุนเป็นองค์รวม จะสร้างความเชื่อมั่น และเปิดโอกาสให้เข้าถึงนวัตกรรมไทยได้อย่างกว้างขวางขึ้น สามารถเดินหน้ากันได้ทั้งองคาพยพ”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/13/nano-technology-for-tourism-rayong/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210