“เกาหลีใต้” ภายในบริบทสังคมอุดม “หุ่นยนต์”

Loading

ตามรายงาน World Robotics ประจำปี 2565 โดย International Federation of Robotics ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคม 2566 ชี้ชัดว่าเกาหลีใต้ติดอันดับที่ 1 ของโลกในด้านความหนาแน่นของหุ่นยนต์ โดยมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 1,000 ตัวต่อพนักงานฝ่ายผลิต 10,000 คน

ขณะที่ในปี 2564 ความหนาแน่นของหุ่นยนต์ของเกาหลีใต้หรือจำนวนหุ่นยนต์ ต่อพนักงาน 10,000 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 7 เท่า ซึ่งอยู่ที่หุ่นยนต์ 141 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน ด้วยการใช้หุ่นยนต์ที่โดดเด่นของเกาหลีใต้ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงว่าในที่สุดแล้วหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อตำแหน่งงานของมนุษย์มากแค่ไหน

จำนวนประชากรของเกาหลีใต้ลดลงอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ (ต่ำที่สุดในโลก) ในกระบวนการลดจำนวนประชากรวัยทำงาน และเปลี่ยนแดนกิมจิให้กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “สังคมสูงวัย” ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้นำระบบอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ

ระบบอัตโนมัติที่นำโดยหุ่นยนต์และ AI กำลังกลายเป็นทางเลือกสำหรับเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตของเกาหลีใต้ ทั้งยังได้แรงกระตุ้นจากที่ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเร่งกระแสธารของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอัตโนมัติ

ด้วยเหตุนี้การใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตและบริการของเกาหลีใต้ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นหลีกเลี่ยงงานที่ยาก สกปรก และอันตราย เมื่อกำลังแรงงานของเกาหลีใต้ลดลง ภาคการผลิตจึงต้องพึ่งพาแรงงานชาวต่างชาติหรือคนงานตามฤดูกาลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าบริษัทเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตและบริการ เริ่มเลือกใช้หุ่นยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน แถมไม่ป่วย ไม่อู้ และไม่บ่น ทั้งยังสามารถช่วยให้พวกเขาสร้างสมดุลกับสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งที่มักทำให้บริษัทสูญเสียประโยชน์ ขณะเดียวกันการหันมาใช้ระบบอัตโนมัติยังช่วยลดต้นทุนค่าแรงและเพิ่มผลผลิตซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ

กระนั้น ข้อมูลจากรายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งเกาหลีระบุว่า อัตราการสูญเสียงานโดยรวมเนื่องจากหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในเกาหลีใต้ โดยย้ำว่าการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยลดงานในอุตสาหกรรมการผลิตและงานบริการไร้ทักษะหรือกึ่งทักษะในเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกันรายงานของธนาคารแห่งประเทศเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 1 ตัวต่อคนงาน 1,000 คนในเกาหลีใต้ จะลดจำนวนคนงานลง 0.1% และลดการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริงลง 0.3% ขณะที่สถาบันการเงินสาธารณะแห่งเกาหลีโต้แย้งว่าระบบอัตโนมัติได้เพิ่มงานในบางภูมิภาคของเกาหลีใต้ และหากหุ่นยนต์และ AI ช่วยเพิ่มผลกำไร ทั้งธุรกิจและการสรรหาบุคลากรใหม่ก็จะเติบโต

สิ่งที่พึงทำคือ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียงาน ควรใช้หุ่นยนต์เพื่อค้นหาและแก้ไขงานใหม่ๆ ให้กับผู้คน และรัฐบาลเกาหลีใต้รวมถึงภาคธุรกิจควรแนะนำหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับพนักงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์มากกว่า

สำหรับประเด็นต่างๆ ที่น่าจับตาคือ กลุ่มบริษัทด้านวิทยาการหุ่นยนต์ของเกาหลีใต้จะมีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Hyundai หรือ LG ต่างกำลังเร่งเข้าสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดย Samsung ยื่นขอสิทธิบัตร SAMSUNG BOT แบรนด์หุ่นยนต์ ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในปี 2565 และลงทุนมูลค่า 59 พันล้านวอน (ราว 1,575 ล้านบาท) ใน Rainbow Robotics (บริษัทเทคโนโลยีเมคคาทรอนิกส์ระดับมืออาชีพ ให้บริการเทคโนโลยีวิศวกรรมระบบหุ่นยนต์ชั้นนำ พัฒนาและผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและหุ่นยนต์อื่นๆ) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ครั้งแรกของปี 2566

นอกจากนี้ ยังรวมถึง แนวปฏิบัติด้านจริยธรรมในการใช้หุ่นยนต์และ AI เนื่องจากมีข้อกังวลด้านจริยธรรมและกฎหมายเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์และ AI เพื่อก่ออาชญากรรม และการหลอกลวงหรือคุกคามผู้ใช้และผู้บริโภคในเกาหลีใต้ การใช้หุ่นยนต์ดูแล AI สำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังได้กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในแวดวงวิชาการว่าควรนำคุณค่าดั้งเดิมของความกตัญญูมาใช้กับหุ่นยนต์อย่างไร ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารบางคนคาดการณ์ว่าหุ่นยนต์ต่อสู้อัตโนมัติเต็มรูปแบบอาจมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งทางทหารทั่วโลก ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ของเกาหลีใต้จึงควรเป็นผู้นำในการสร้างจรรยาบรรณในการพัฒนาและการใช้หุ่นยนต์และ AI

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีประเด็นของช่องว่างทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนต่างรุ่นและต่างภูมิภาค เนื่องจากการใช้อุปกรณ์อัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์และ AI เพิ่มขึ้นอย่างมากในอุตสาหกรรมบริการ โดยมีการใช้เพื่อค้นหาข้อมูล สั่งซื้อ และอื่นๆ อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจในบางส่วนของสังคม หน่วยงานผู้บริโภคแห่งเกาหลีใต้แนะนำให้สร้างมาตรฐานให้กับฟังก์ชันและการออกแบบระบบอัตโนมัติให้คำนึงผู้บริโภคแต่ละวัยรวมถึงผู้พิการด้วย เช่น หุ่นยนต์คีออสก์และหน้าจอต่างๆ ในภาคบริการ จะต้องคำนึงถึงผู้ทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ขณะที่อีกสิ่งหนึ่งี่น่ากังวลคือพื้นที่ที่มีการพัฒนาและการใช้หุ่นยนต์และ AI ล่าช้า การพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นจะล้าหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สุดท้าย แม้เกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก แต่ปัญหาโครงสร้างของประชากรที่อัตราการเกิดต่ำมาก และยังขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน ก็จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ที่ชัดเจนก็คือเกาหลีใต้ต้องการทารกและคนงานเพิ่มมากขึ้น โดยในขณะที่เกาหลีใต้พยายามดิ้นรนเพื่อให้คนหนุ่มสาวสนใจเรื่องการแต่งงานและการมีลูก ทางการกำลังพยายามใช้วิธีใหม่ๆ เพื่อร่วมแก้ปัญหานี้ นั่นคือ การนำเข้าแม่บ้านต่างชาติเพื่อแบกภาระในครัวเรือนบางส่วน เช่น ทำงานบ้านและดูแลเด็ก

ล่าสุดรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศโครงการนำร่องที่อนุญาตให้แม่บ้านชาวต่างชาติ 100 คน เริ่มทำงานในกรุงโซลได้ โดยจะเริ่มได้เร็วที่สุดในเดือนธันวาคมนี้ แผนดังกล่าวจะขยายจำนวนอุตสาหกรรมและบริษัทที่มีสิทธิ์จ้างแรงงานต่างชาติ เนื่องจากเกาหลีใต้เผชิญกับจำนวนประชากรสูงวัย แรงงานลดลง และการขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนต่างๆ

โครงการนำร่องนี้จะจัดลำดับความสำคัญในการส่งแม่บ้านชาวต่างชาติให้กับคู่สมรสที่มีรายได้ทั้งคู่ ในช่วงอายุ 20-40 ปี ครัวเรือนที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวที่มีลูกหลายคน เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีความต้องการความช่วยเหลือในการทำงานบ้านมากที่สุด

แม่บ้านต่างชาติจะต้องมีอายุอย่างน้อย 24 ปี และจะต้องได้รับการตรวจสอบประวัติ รวมถึงการตรวจสอบบันทึกทางอาญาหรือที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เจ้าหน้าที่ยังจะประเมินประสบการณ์การทำงาน ความรู้ และทักษะทางภาษาของผู้ย้ายถิ่นฐานเพื่อมาทำการดังกล่าวด้วย โดยพวกเขาจะถูกจัดให้อยู่ในครัวเรือนเกาหลีผ่าน หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะติดตามความสำเร็จของโครงการตลอดระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ ภาระในการดูแลเด็กและงานบ้านถูกอ้างถึงมานานแล้วว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดและการแต่งงานของเกาหลีใต้ลดลง เช่นเดียวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความลังเลที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่สตรีที่ได้รับการศึกษาว่าจะตัดสินใจอย่างไรระหว่างที่จะชะงักอาชีพการงานไว้ แล้วหันไปแต่งงานมีครอบครัวและเลี้ยงลูก

โดยจากรายงานล่าสุดของรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่ามากกว่าครึ่งของผู้ที่มีอายุ 19-34 ปี ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีลูก แม้ว่าจะแต่งงานแล้วก็ตาม

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/09/09/south-korea-society-robotics-automation/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210