ญี่ปุ่นเริ่มใช้ ‘หุ่นยนต์ยักษ์’ ทำความสะอาดสายไฟ-เสาไฟฟ้า

Loading

ทุกวันนี้เป็นยุคที่คนเห่อเทคโนโลยี AI กันไม่น้อย และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อยๆ คือเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ซึ่งถ้าพูดถึงหุ่นยนต์ หลังๆ คนจะนึกถึงเทคโนโลยีฝั่งอเมริกากันเยอะ แต่ถ้าพูดถึงญี่ปุ่น คนจะนึกถึงหุ่นยนต์ในการ์ตูนหรือพวกหนังและซีรีส์ฮีโร่สไตล์ญี่ปุ่นทั้งนั้น

แต่จริงๆ ญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีพวกนี้เรื่อยๆ พวกเทคโนโลยีแขนกลยันหุ่นยนต์มีความก้าวหน้ามากๆ แต่มันไม่ได้เป็นข่าวในระดับโลกเท่าไร นี่เลยทำให้วันที่ 15 เมษายน 2023 บริษัทผู้ดำเนินการรถไฟสายตะวันตกของญี่ปุ่นอย่าง JR West จึงได้ทวีตโชว์การทำงานของหุ่นยนต์ยักษ์ ที่ทำอะไรไม่ทำ ดันไปทำความสะอาดและซ่อมบำรุง ‘สายไฟ’ ของทางรถไฟ (ดูได้ที่ https://bit.ly/3OdXiqp) โดยนี่คือเป็นการเอามาโชว์ก่อน แต่ปี 2024 หุ่นนี้จะออกมาทำงานจริงอย่างเป็นทางการ

สำหรับหลายๆ คนอาจจะ ‘ช็อตฟีล’ มาก เพราะเด็กๆ เราอาจจะฝันว่า ‘หุ่นยักษ์’ ต้อง ‘พิทักษ์โลก’ พอทำงานจริงกลับแค่เอามาซ่อมและทำความสะอาดสายไฟสูงๆ (ซึ่งงานก็มีไม่ได้เยอะด้วย เพราะตามถนนหนทางในญี่ปุ่นนั้น ‘สายไฟ’ ลงใต้ดินเกือบหมดแล้ว ไม่เหมือนบ้านเรา)

แต่จริงๆ ถ้าดูรายละเอียด หุ่นยักษ์นี้มันเท่มากในหลายจุด

อย่างแรกเลยคือ ‘การควบคุม’ มีการโชว์เลยว่าคนควบคุมนั้นใส่แว่น VR และจะเห็นโลกจากมุมมองของหุ่นยนต์ คือหันซ้ายขวาให้ดูเลยว่ามัน ‘ลื่น’ แค่ไหน ซึ่งนอกจากควบคุมคอและสายตาของหุ่นยนต์ได้ คนควบคุมก็ยังคุมแขนหุ่นยนต์ได้จากส่วนควบคุม ซึ่งดูๆ ไปก็อาจคล้ายๆ พวกส่วนควบคุมในห้องควบคุมหุ่นยนต์ยักษ์ในซีรีส์หรือการ์ตูนที่หลายคนเคยดูตอนเด็ก

ซึ่งก็บอกเลยว่าใครโตมากับการ์ตูนหุ่นยนต์ญี่ปุ่น เห็นแบบนี้ก็น่าจะขนลุก และถ้าใครมีวัยเด็กอย่างที่ว่ามา แล้วไม่อยากลองไปควบคุมหุ่นนี่ ก็น่ากังขาว่าเคยมีวัยเด็กแบบที่ว่าจริงไหม เพราะเด็กยุคหนึ่งที่โตมากับการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ก็น่าจะอยากลองควบคุมหุ่นยนต์ยักษ์กันบ้างแหละ

นี่เลยนำมาสู่ประเด็นที่สำคัญที่น่าพูดถึง คือเรื่องรูปร่างของหุ่นยนต์กับสถานะหุ่นยนต์ในญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมป๊อป จะเห็นว่าอเมริกาและญี่ปุ่นวาดภาพหุ่นยนต์ไว้ต่างกัน ฝั่งอเมริกาหุ่นยนต์ส่วนใหญ่คือ ‘ตัวร้าย’ เป็นภัยคุกคาม หรืออย่างน้อยๆ ก็ ‘ไว้ใจไม่ได้’ ตั้งแต่ The Terminator จนถึง Avengers: Age of Ultron

แต่ทางฝั่งญี่ปุ่น หุ่นยนต์ของญี่ปุ่นมักจะเป็น ‘ฝ่ายดี’ หรืออย่างน้อยๆ ก็จะย้ายมาเป็น ‘ฝ่ายดี’ ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโดราเอมอน, หมายเลข 18 ใน Dragon Ball Z, ผู้กองโมโตโกะใน Ghost in the Shell ยันพวกหุ่นยนต์ยักษ์สไตล์ Super Robots ทั้งหลายตั้งแต่ Mazinger Z ถึงสารพัดกันดั้ม

และก็แน่นอน นี่คือสุนทรียภาพที่ชาวโลกไม่อินกันเท่าไร ไม่งั้นหนังอย่าง ‘Pacific Rim’ ของ กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) คงมีรายได้ถล่มทลายจนถูกสร้างเป็นไตรภาคไปแล้ว

แต่ก็นั่นเอง คนญี่ปุ่นและคนที่ชินกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมองหุ่นยนต์แบบมีสุนทรียภาพต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ เช่น คนญี่ปุ่นเห็นหุ่นยนต์แล้ว ‘ไม่กลัว’ เพราะภาพในหัวของเขาหุ่นยนต์ไม่ใช่ตัวละครชั่วร้าย และนี่เลยเป็นเหตุผลที่คนญี่ปุ่น ‘รับได้’ มากกว่าคนตะวันตก ถ้าจะมีหุ่นยนต์ทำงานอยู่รอบๆ ตัวในชีวิตประจำวัน

และเพื่อให้หุ่นยนต์เข้ากับสังคมได้ การออกแบบส่วนใหญ่จึงมักจะทำให้หุ่นยนต์มีรูปร่าง ‘เหมือนมนุษย์’ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นทางเทคนิคเลยที่หุ่นยนต์ต้องรูปร่างแบบนี้ แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้กันทั่วไปว่าถ้าออกแบบมาแบบนี้ มนุษย์จะเข้าใจมันได้ง่ายและไม่กลัว ซึ่งพอเป็นญี่ปุ่น กระแสข่าวส่วนใหญ่มีแต่คนชมว่าเท่ แต่ถ้าลองคิดว่าทางอเมริกันทำหุ่นยนต์แบบนี้ออกมา กระแสอาจจะไม่เป็นบวกแบบนี้ เพราะคนอาจตั้งคำถามก่อนว่ามันจะมายึดโลกไหม? มันจะมาแย่งงานไหม?

นี่เลยทำให้หลายๆ คนมองว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรกๆ ที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์จะแพร่หลายก่อนที่อื่น เพราะมีวัฒนธรรมในสังคมที่มองหุ่นยนต์แบบเป็นมิตรโดยพื้นฐานนั่นเอง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3646664152325777/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210