Industrial Internet of Things (IIoT) ปลดล็อคภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เทคโนโลยีที่คู่ควร

Loading

ถ้าพูดถึง Internet of Things (IoT) หลายคนคงคุ้นหูและได้ใช้ประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตภายในบ้าน หรือที่ทำงาน หรือระหว่างการเดินทาง เพราะ IoT คือ เทคโนโลยี IoT ที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน จึงสามารถอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน และทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น และด้วยคุณูปการของเทคโนโลยีนี้นี่เองที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมนำมาปรับใช้ ผสานเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับพัฒนาภาคอุตสาหกรรม นั่นคือ Industrial Internet of Things (IIoT) ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อบูรณาการการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้กระบวนการผลิตตลอดทั้งซัพพลายเชนเชื่อมต่อกันบนโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

และเพื่อทำความเข้าใจ Industrial Internet of Things (IIoT) ในฐานะโซลูชันเทคโนโลยี ที่มาปลดล็อคภาคอุตสาหกรรมไทยให้พัฒนาไปได้ไกลได้อีก วันนี้เรามีทั้งเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้และผลสำรวจล่าสุดจาก ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ที่ยืนยันว่าภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งผนวกเทคโนโลยี IIoT เพื่อยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนอย่างเร่งด่วน

รู้ให้ลึก Industrial Internet of Things (IIoT) คืออะไร และใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง?

ดังที่เกริ่นไปแล้วว่า Industrial Internet of Things (IIoT) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเชื่อมต่อการผลิตเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ทั้งซัพพลายเชนเชื่อมต่อกันบนโลกดิจิทัลได้แบบไร้รอยต่อ แต่เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น ขอนำบางส่วนจากบทความเรื่อง “IoT สู่ IIoT เมื่อโลกดิจิทัลเข้าเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม” จากเว็บไซต์ sumipol.com มาอธิบายเพิ่มเติม

โดยถ้าถามว่า Industrial Internet of Things หรือ IIoT คืออะไร คำตอบคือ “การนำเครื่องจักร ระบบการวิเคราะห์ขั้นสูง และคนมาทำงานร่วมกันผ่านโครงข่ายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลให้เกิดระบบที่สามารถติดตาม เก็บข้อมูล แลกเปลี่ยนและแสดงผลข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน ข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างชาญฉลาดและรวดเร็วยิ่งขึ้น”

ส่วน ประโยชน์ของ IIOT ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ยืดหยุ่น ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการวางแผนการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม

บริษัทที่มีความพร้อม เริ่มได้รับประโยชน์จาก IIoT ในการลดต้นทุนการผลิตจากการบำรุงรักษาที่คาดการณ์ล่วงหน้า (Predictive maintenance) การตรวจสถานะของเครื่องจักร (Monitor) และหลีกเลี่ยงการ Downtime ของระบบเพิ่มความปลอดภัยและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในส่วนอื่นได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ระบบเครือข่าย IIoT สามารถเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่ไลน์การผลิต ไปจนถึงระดับออฟฟิศและทุกคนในองค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลจาก IIoT ได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญนำไปสู่การตัดสินใจในอนาคต การขยายตัวของ IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต (Industrial Internet of Thing – IIoT) ทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

องค์ประกอบสำคัญ ก่อร่างเป็น IIoT เทคโนโลยีติดสปีดภาคอุตสาหกรรมไทย

อย่างไรก็ดี ในบทความชิ้นเดียวกัน ยังย้ำด้วยว่าการนำระบบ Internet of Thing (IoT) มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นจำเป็นจะต้องพัฒนาองค์ประกอบหลายประการ อาทิ การปรับปรุงเครื่องจักรกลและอุปกรณ์แบบเดิมให้รองรับเทคโนโลยี IIoT การเพิ่มอุปกรณ์ตรวจวัดและการเชื่อมต่อระบบการทำงานเข้าด้วยกัน รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การควบคุมและจัดการข้อมูลที่ได้รับทั้งโครงข่ายข้อมูล

การใช้สมาร์ทเซนเซอร์ในการเชื่อมต่อสื่อสารถึงกันระหว่างเครื่องจักรกล (Machine-to-Machine M2M Communication) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เครื่องจักรกลสามารถประเมินสถานะการทำงานที่ดีที่สุดและจดจำข้อมูล ตลอดจนการลำดับขั้นตอนการผลิตได้ด้วยตัวเองและการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้รับ (Big Data) ด้วยระบบการประมวลผลการผลิตแบบเรียลไทม์ (Manufacturing Execution Systems – MES) เข้ามาควบคุมติดตามและบันทึกผลการผลิตผ่านอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันแพลตฟอร์มการทำงานของระบบ IIoT ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่

  • Sensors และ Sensor-Driven Computing

เซนเซอร์ถือเป็นคือด่านแรกในการเก็บข้อมูลที่ได้จากการผลิตและส่งไปยังส่วนของ Processor ซึ่งตัวเซนเซอร์ทำให้อุปกรณ์สามารถรับรู้สภาวะต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความดัน แรงดันไฟฟ้า การเคลื่อนไหว และด้านเคมี Sensor-Driven Computing จะแปลงการรับรู้นี้เป็นข้อมูลเชิงลึก (Insights) โดยใช้ Industrial Analytics ในลำดับถัดไปที่ผู้ปฏิบัติงานและระบบสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้

  • Processor หรือ Industrial Analytics

โปรเซสเซอร์เป็นตัวประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากเซนเซอร์ ให้อยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลหลาย ๆ ส่วนของเครื่องจักรในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ส่งคำสั่งไปยังเซนเซอร์ เป็นเสมือนเครือข่ายในการเชื่อมโยงข้อมูลทุกจุดให้สามารถทำงานได้ทันที (Real time)

  • Intelligent Machine Application

ในอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตเครื่องจักรจะไม่ผลิตเพียงแค่เครื่องจักรที่มีเฉพาะระบบกลไกเท่านั้น แต่จะรวมฟังก์ชั่นที่มีสมอง (Intelligence) อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อควบคุมการผลิตอัตโนมัติผ่านซอฟท์แวร์ ซึ่งปกติผู้วางระบบจะทำบนระบบคลาวด์ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุม แก้ไข จัดการตรวจสอบการทำงานผ่านแอปพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้น และสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประมวลผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไป แอปพลิเคชันที่มาพร้อมกับเครื่องจะเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างรายได้ใหม่ในรูปแบบผสมระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ง่ายต่อการผสานรวมอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เข้าด้วยกัน

ศูนย์วิจัย ธ.กรุงไทย กับผลสำรวจชี้ IIoT สำคัญมากกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล

ล่าสุด ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ชี้ภาคอุตสาหกรรมไทยควรเร่งผนวกเทคโนโลยี IIoT เพื่อใช้ในการยกระดับสู่โรงงานอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน

โดยเฉพาะต้นทุนในการดูแลเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี และเสนอแนะให้ 8 กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งมีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักร 1.12 แสนล้านบาทต่อปี ปรับตัวเป็นกลุ่มแรก ขณะที่ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สำหรับมาตรการสนับสนุนให้ SMEs ใช้ IIoT มากขึ้น

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า”เทคโนโลยี IIoT เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่กำลังมาแรง เนื่องจากตอบโจทย์แนวคิด Digital Lean Manufacturing ที่เน้นลดการสูญเปล่าในทุกขั้นตอนการผลิต อีกทั้งยังมีปัจจัยเร่งสำคัญจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานเมื่อเผชิญกับภาวะการผลิตหยุดชะงัก (Supply chain disruption)”

“แนวโน้มการเติบโตของเมกะเทรนด์ดังกล่าวสอดคล้องกับที่ McKinsey ประเมินว่าการลงทุนใน IIoT ทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาคอุตสาหกรรมโลกก้าวสู่ยุค Industry 4.0 อย่างเต็มตัวและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”

“ทั้งนี้ จากการติดตามการทำงานของเครื่องจักรแบบ Real time ตลอดจนการวิเคราะห์คุณภาพและการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ค่าติดตั้ง ซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักร ที่กรณีของไทยมีมูลค่าถึง 2.06 แสนล้านบาทต่อปี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“ที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นตัวอย่าง Use case การนำ IIoT มาใช้ในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และพิสูจน์แล้วว่า IIoT ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงมากถึง 30% ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงควรเร่งผนวก IIoT ในโรงงานการผลิตมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ”

“เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยราว 60% ยังอยู่ในระดับ Industry 2.0 เท่านั้น ขณะที่มีหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้ IIoT เช่น ต้นทุน Sensor และ Data storage ที่ถูกลง การพัฒนา 5G ที่จะช่วยส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงมาตรการส่งเสริม Industry 4.0 จากภาครัฐ”

ด้าน ณัฐพร ศรีทอง นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า อุตสาหกรรมที่อิงกับการส่งออก 8 กลุ่ม ซึ่งฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและมีความพร้อมในการนำ IIoT มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมผักผลไม้แปรรูป ไก่แปรรูป รถยนต์ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์

“เพราะในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีโรงงานรวมกันกว่า 17,290 แห่ง คิดเป็นราว 25% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในไทย และมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเครื่องจักรมากถึง 1.12 แสนล้านบาทต่อปี”

“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเริ่มจากการศึกษาเทคโนโลยีและพิจารณา IIoT ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเข้าร่วมโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Industrial IoT and Data Analytics Platform (IDA) โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NETTEC) และพันธมิตร หรือสามารถติดต่อบริษัทให้บริการเชื่อมต่อระบบ (System integrator) ได้โดยตรง”

“ภาครัฐจึงควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 สู่มาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs เพื่อใช้ IIoT มากขึ้น เนื่องจากความท้าทายหลักที่ SMEs กำลังเผชิญ คือ เรื่องของเงินทุน นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านความรู้และบุคลากร”

“โดยการสนับสนุนอาจอยู่ในรูปแบบ “โครงการเงินทุนคนละครึ่ง (Co financing)” ด้วยเป้าหมายที่ครอบคลุม SMEs มากรายและใช้ Digital platform เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องให้ SMEs สำรองจ่ายเงินไปก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างแท้จริง”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/19/industrial-internet-of-things-iiot-for-thai-industry/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210