ส่องนวัตกรรม “บ้านลอยน้ำ” เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ

Loading

MAST สตูดิโอสถาปัตยกรรมทางทะเลจากเดนมาร์กได้พัฒนา Land on Water ซึ่งเป็นระบบสำหรับการสร้างบ้านและอาคารลอยน้ำที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างชุมชนที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศและยั่งยืนมากกว่าวิธีการแบบเดิม

ระบบที่ออกแบบโดย MAST ในโคเปนเฮเกน ประกอบด้วยตู้คอนเทนเนอร์แบบแยกส่วนที่สามารถบรรจุองค์ประกอบการลอยตัวต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับการใช้กรงเกเบี้ยน (กรงลวดตาข่าย) ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

โดยผลิตจากพลาสติกเสริมแรงรีไซเคิล ชิ้นส่วนต่างๆ แบบแบนที่เชื่อมต่อกันได้เหล่านี้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายไปที่ไหนก็ได้ทั่วโลกและประกอบในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะกับการประเภทของอาคารและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

Marshall Blecher ผู้ร่วมก่อตั้ง MAST กล่าว “เราได้พัฒนาระบบใหม่โดยสิ้นเชิงสำหรับการสร้างเกือบทุกอย่างบนน้ำ เราคิดว่าในอนาคตจะเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่อย่างยั่งยืนในน้ำได้”

Land on Water มีประโยชน์มากมายเมื่อเทียบกับระบบทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งรวมถึงโป๊ะพลาสติก โป๊ะเหล็ก หรือฐานรากคอนกรีตที่เติมด้วยโพลีสไตรีน

โดย Blecher บอกว่าโซลูชั่นที่มีอยู่ในขณะนี้ล้วนมีปัญหาและมีข้อจำกัด เช่น ทุ่นลอยเหล็กและคอนกรีตนั้นขนส่งได้ยาก และมักเคลือบด้วยสีป้องกันการเปรอะเปื้อนที่เป็นพิษ ในขณะที่ทุ่นพลาสติกก็สามารถใช้ได้กับโครงสร้างขนาดเล็กเท่านั้น แต่ระบบของ MAST ได้รับการออกแบบให้เติมด้วยวัสดุลอยตัวซึ่งเป็นวัสดุรีไซเคิลต่างๆ ที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น ทุ่นและทุ่นรีไซเคิลจากอุตสาหกรรมประมง หรือขวดและภาชนะพลาสติกเก่า เป็นต้น

นวัตกรรมนี้ทำให้ลอยตัวได้ง่าย และสามารถทำงานกับทั้งโครงสร้างที่มีขนาดและน้ำหนักต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความยืดหยุ่นถือเป็นข้อดีอีกประการหนึ่งของ Land on Water เพราะสามารถปรับหรือเพิ่มวัสดุลอยตัวได้อย่างง่ายดายหากน้ำหนักของอาคารเพิ่มขึ้นหรือความสมดุลของน้ำหนักเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ Land on Water ยังได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะโพรงภายในระบบทุ่นลอยนี้ คาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตของหอยและสาหร่าย รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งด้วย

“ในขณะที่ทุ่นเหล็กและคอนกรีตได้รับการออกแบบเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ แต่กรงเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เหมือนกระท่อมชีวภาพใต้น้ำ”

Blecher หวังว่านวัตกรรมนี้จะแสดงให้เห็นว่าบ้านลอยน้ำสามารถเป็นทางเลือกที่ยืดหยุ่นและน่าสนใจสำหรับเจ้าของบ้าน และนำไปสู่การสร้างชุมชนที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะระบบนี้สามารถใช้เพื่อสร้างสวนสาธารณะลอยน้ำ คาเฟ่ และสระว่ายน้ำได้ด้วย

โปรเจ็กต์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอทางเลือกให้กับเมืองลอยน้ำต่างๆ เช่น Oceanix City ที่ออกแบบโดย BIG ซึ่ง Blecher มองว่าเต็มไปด้วยปัญหา

“พวกเขาทำซ้ำข้อผิดพลาดมากมายที่นักออกแบบเมืองทำในช่วงทศวรรษที่ 1930, 1940 และ 1950 เมื่อพวกเขาออกแบบมหานครลอยน้ำโดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบที่มีขนาดที่เล็ก” Blecher กล่าว

ปัจจุบัน MAST กำลังพัฒนาต้นแบบของระบบ Land on Water ซึ่งมีแผนจะนำเสนอที่ UIA World Congress of Architects ซึ่งจัดขึ้นที่โคเปนเฮเกนในปี 2566

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/10/14/sustainable-floating-home-danish-innovation/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210