เจาะลึก!! กฎหมาย Digital Platform Services ใครได้ ใครเสียประโยชน์

Loading

พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นี้ เป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ถูกปรับมาให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัลควรต้องรู้ !!!!

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอรนิกส์ หรือ ETDA เปิดข้อมูลอินไซต์ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ แน่นอนว่าในมุมของผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างผู้ให้บริการ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพตลฟอร์มดิจิทัลนั้น คงติดตามความเคลื่อนไหวและมีการทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง

กฎหมายฉบับนี้ ได้ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล เปิดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนรวบรวมประเด็นเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงกฎหมายซึ่งได้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

จาก “Network Effect” สู่แนวคิด “ดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล”

เพราะคนไทย ซื้อขายของออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากคนที่ไม่เคยซื้อสินค้า อาหาร หรือบริการขนส่ง ผ่านโลกออนไลน์ ก็หันมาใช้งานราวกลับว่า เป็นเรื่องที่หลายคนต่างคุ้นชินกันมานานแล้ว

ผลที่ตามมาไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความสะดวกสบายที่มาพร้อมๆ กับการสร้างโอกาสให้กับหลายๆ พ่อค้าแม่ค้าได้สามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ในมุมกลับกันการใช้งานที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Network Effect ที่คุณค่าของสินค้าหรือบริการ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติ หรือราคา

แต่อยู่ที่จำนวนของผู้ซื้อและผู้ขายในแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นๆ จนทำให้อัลกอลิทึมของแพลตฟอร์มเกิดการจัดอันดับ และเลือกแนะนำสินค้า หรือบริการ จากร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แก่ผู้ซื้อโดยตรง โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า แพลตฟอร์มนั้นๆ ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น เหมาะสม โปร่งใส และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน ทั้งในมุมของผู้ซื้อ และผู้ขาย จริงหรือไม่?

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของ Pain point ที่เกิดขึ้นจริง ที่ไม่นับรวมประเด็นของการถูกหลอก โกง สินค้าไม่ตรงปก ตะกร้าสินค้าหาย โดยไม่สามารถติดต่อหรือติดตามผู้รับผิดชอบได้ เป็นต้น “การเข้ามาดูแลการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม”

กฎหมาย DPS” เน้นคุ้มครอง ไม่เน้นควบคุม

สาระสำคัญหลักๆ ของ “กฎหมาย DPS” ฉบับนี้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ กำหนดให้ ผู้ให้บริการหรือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่ในการมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ว่าเป็นใคร ให้บริการอะไรและกำลังจะให้บริการอะไร และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่เท่าไหร่ เป็นต้น เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยกำหนดให้เราว่า บริการใดบ้างที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพื่อนำไปสู่มิติของการดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการ

ทั้งในมุมผู้บริโภค และผู้ขาย ภายใต้การส่งเสริมและการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) สำหรับเป็นกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการของตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566

“ซึ่งกฎหมาย DPS เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น ฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ไม่ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA”

4 กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากกฏหมาย DPS
  1. ร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
  2. ผู้ซื้อหรือ ผู้บริโภคทั่วไป
  3. กลุ่มไรเดอร์
  4. หน่วยงานภาครัฐ

กฎหมาย DPS นอกจากจะสร้างกลไกให้เกิด Best practice แก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะได้มีกรอบแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการกำหนดทิศทาง วิธีการให้บริการและการดูแลควบคุมตัวเองที่เหมาะสมและมีมาตรฐานแล้ว ยังมีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม การจัดการกับปัญหาการฉ้อโกงต่างๆ หรือ สแกมเมอร์ (Scammer) ที่สามารถระบุผู้กระทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยส่งเสริมให้บริการแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย

นอกจากนี้ ในมุมของผู้ใช้บริการเอง ก็ยังได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เช่น ร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะได้รับความชัดเจนในด้านข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอะไร ข้อมูลการจัดอันดับ Ranking ร้านยอดนิยม ช่องทางในการติดต่อกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

ในกรณีที่ถ้าเกิดปัญหาจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ส่วน ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั่วไป ไม่เพียงแค่จะได้รับการบริการที่ดีและปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะของการเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย (User friendly) มีช่องทางในการติดต่อ หรือแม้แต่การยกเลิกออเดอร์ระหว่างทางก็สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้น จากเดิมที่ต้องติดต่อผู้ให้บริการผ่านหลายช่องทางที่อาจจะมีการตอบสนองค่อนข้างช้า รอนานหลายชั่วโมง เป็นต้น

กลุ่มไรเดอร์ ได้ประโยชน์

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ กลุ่มไรเดอร์ (Rider) ที่เปรียบเสมือนคนกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหักค่า GP (Gross profit) ที่อาจจะมีการปรับลดค่ารอบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องทำรอบควบออร์เดอร์ ไม่มีความชัดเจนในการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ ก็จะได้รับการดูแลคุ้มครองและความเป็นธรรมในเรื่องของผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้มีกลไกสำคัญที่สุดคือ ‘การตั้งคณะกรรมการร่วม’ ที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เกือบ 20 หน่วยงาน จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูลและระบบ ในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้ดำเนินงานในการกำกับดูแล ไม่เกิดการทับซ้อนระหว่างกัน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะบังคับใช้ 21 สิงหาคมนี้ จะช่วยให้ทุกคนที่ใช้ชีวิต ทำกิจกรรม ทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัล มีความมั่นใจว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้งานอยู่นั้น มีความน่าเชื่อถือ

เพราะหนึ่งในสาระสำคัญที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด คือ เมื่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้ามาจดแจ้งข้อมูลแล้ว จะถูกการันตีด้วยการประกาศว่า เป็นผู้ให้บริการที่ได้เข้ามาจดแจ้งกับ ETDA แล้ว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1082120


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210