ปรับแนวรถไฟทางคู่ ”ชุมพร-ระนอง” 3.5 หมื่นล้าน

Loading

  • แหลมริ่ว-อ่าวอ่าง 91กม.ผ่าน 9ตำบล 3อำเภอ
  • รฟท.รื้อผลศึกษาสนข.ไม่เวิร์ก/จ้างสำรวจใหม่
  • เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยรับแลนด์บริดจ์
  • ทางลัดเดินเรือมหาสมุทรอินเดียวาร์ปแปซิฟิก

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า  การประชุมคณะกรรม(บอร์ด) รฟท. เดือน ก.ค.64 รฟท. จะเสนอที่ประชุมพิจารณาอนุมัติว่าจ้าง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MAA Consortium ศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง

โดยจะศึกษาต่อยอดจากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี 61 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(แลนด์บริดจ์) และการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)และระบบราง (MR-MAP ) ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งต่อว่า การศึกษาฯ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะนำเสนอรายงานอีไอเอได้ช่วงปลายปี 65  จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติโครงการในปี 66  ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 67 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดบริการในปี 73 เบื้องต้นจะปรับแก้ไขแนวเส้นทางบางส่วน เนื่องจากผลการศึกษาของ สนข. ไม่เหมาะกับการใช้เป็นแนวเส้นทางที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับมอเตอร์เวย์

เพราะแนวเส้นทางเดิมอยู่ใกล้และเกือบขนานกับทางหลวงหมายเลข 4(ถนนเพชรเกษม)  ที่เป็นทางหลวงสายหลัก และยังไม่ตอบสนองการเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกตามการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ที่ต้องการสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าเข้าสู่สถานีรถไฟระนองต่อไปยังถนน และเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกชุมพร ด่านศุลกากร มอเตอร์เวย์สายชุมพร-ระนอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงท่าอากาศยานระนอง และชุมพรด้วย

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งอีกว่า แนวเส้นทางใหม่จะขยับจุดเริ่มต้นโครงการลงไปด้านทิศใต้มากขึ้น โดยเริ่มต้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว จ.ชุมพร จากเดิมจะเริ่มต้นด้านใต้ของสถานีรถไฟชุมพร มีจุดสิ้นสุดโครงการที่ชายฝั่งทะเลอันดามันบริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด จ.ระนอง สำหรับเส้นทางใหม่จะเป็นแนวเส้นแนวตรงมากขึ้น ช่วยลดค่าก่อสร้างและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินชุมชน  มีความยาวตลอดแนวเส้นทางประมาณ 91 กิโลเมตร(กม.) คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งต่อว่า โครงการกำหนดวัตถุประสงค์ของการให้บริการขนส่งสินค้า 3 ส่วน คือ

1 เป็นทางลัดของเส้นทางเดินเรือหลักเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าในภูมิภาค (Transshipment) และสะพานเศรษฐกิจพลังงาน (Oil Bridge)

2 เป็นเส้นทางสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างของไทยกับประเทศทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

และ 3 เป็นเส้นทางสำหรับสินค้าที่มาจากทางจีนตอนใต้ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่าโดยเฉพาะในเรื่องการประกอบชิ้นส่วน (Assembly)

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งด้วยว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เป็นทางรถไฟสายใหม่ที่เชื่อมต่อฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทยระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เบื้องต้นจุดเริ่มต้นโครงการตามแนวเส้นทางใหม่จะเริ่มที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร

ตัดผ่านไปทางตะวันตก ผ่านทางรถไฟสายใต้บริเวณทิศเหนือของสถานีควนหินมุ้ย จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทางหลวง(ทล.) หมายเลข 4097 และตัดผ่าน ทล. 41 (สายแยกปฐมพร – พัทลุง) และขนานไปกับแนว ทล. 4006 (สายราชกรูด – หลังสวน) ผ่านพื้นที่ภูเขา แล้วตัดกับทล. 4006

จากนั้นมุ่งลงทิศใต้ขนานทล. 4 อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทล.4 ผ่านด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง แนวเส้นทางโค้งขวามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลนไปสิ้นสุดที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง

ผ่านพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ของ 2 จังหวัด ได้แก่ ต.บางน้ำจืด ต.นาขา ต.วังตะกอ และ ต.หาดยาย ของ อ.หลังสวน จ.ชุมพร, ต.ปังหวาน ต.พระรักษ์ ต.พะโต๊ะ และ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/logistics.development.thailand.forum/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210