จีน เบื้องหลังจากเติบโต EV โลก อุปทาน โคบอลต์ และ นิเกิล อยู่มือจีน พร้อมเดินหน้าสร้าง Mega-Factory ทุกสัปดาห์

Loading

หากจะพูดถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังชื่อแรกที่คนนึกถึงคงหนีไม่พ้น Tesla บริษัทจากรัฐแคลิฟอร์เนียที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าดีที่สุดในโลก พร้อมมูลค่าตลาดมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในช่วงปี 2021) แต่เบื้องหลังความสำเร็จของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐจะมีใครรู้หรือไม่ว่า ประเทศจีน อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ดูได้จากโรงงานของ Tesla ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ตอนนี้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่าที่โรงงานที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียประเทศบ้านเกิดไปแล้ว (ตัวเลขการผลิตในจีนของ Tesla อยู่ที่ 285,000 คัน)

แบตเตอรี่จำนวนหนึ่งที่ขับดันการเติบโตของ Tesla ถูกผลิตโดยบริษัทของจีน รวมไปถึงแร่โลหะซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของแบตเตอรี่ทั้งหลายถูกกลั่นและขุดโดยบริษัทจากจีนจำนวนมากหลายบริษัท อย่างที่เรารู้กันตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะมีมูลค่ามหาศาลจากนี้ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คือตัวเลขขั้นต่ำในช่วงเวลา 8 ปีจากนี้ และจะขยับขึ้นไปถึง 46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2050 เพราะฉะนั้นด้วยผลประโยชน์มหาศาลขนาดนี้การควบคุมห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ทั้งระบบเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อทำให้แน่ใจว่าบริษัทจะมีความสามารถในการแข่งขันบนตลาดนี้ในระยะยาว

จีนนั้นถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกสำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าด้วยอดขายรวมกว่า 1.3 ล้านคันในปีที่แล้ว และคิดเป็นสัดส่วนมากก่า 40% ทั่วโลกในเวลานี้ โดยมีบริษัทสำคัญที่ควบคุมอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่อย่าง CATL ที่ควบคุมตลาดแบตเตอรี่ไว้กว่า 30% ของโลกในเวลานี้ Darton Commodities บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหาโคบอลต์ประเมินว่า โรงกลั่นของจีนเป็นผู้จัดหาอุปทานโคบอลต์ 85% ของโลกในเวลานี้ โดยเจ้าแร่โคบอลต์นี้จะมีส่วนช่วยให้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีความมั่นคงมากขึ้น

แล้วรู้หรือไม่ว่า ‘โคบอลต์’ จำนวนมากมาจากไหน

จำนวนมากของโคบอลต์มาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยเกือบ 70% ของเหมืองแร่ในประเทศนี้ถูกควบคุมโดยบริษัทจากจีน โดยในเดือนสิงหาคมบริษัทเหมืองแร่ China Molybdenum Company (CMOC มีเจ้าของคือ Natural Resource Elite Investment Ltd) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านนี้ของจีนได้ประกาศลงทุนกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการผลิตทองแดงและโคบอลต์ ในเหมืองที่ชื่อว่า Tenke Fungurume Mine ซึ่งเป็นเหมืองที่ใหญ่มากเหมืองหนึ่งของประเทศคองโก

หลังจากดำเนินการซื้อเหมืองแร่แห่งนี้ต่อจากบริษัทสหรัฐที่ชื่อว่า Freeport-McMoRan Inc. ด้วยมูลค่ากว่า 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปีที่แล้ว เพื่อนำโครงการที่ชื่อว่า Kisanfu project (ตั้งอยู่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ Tenke Fungurume Mine มีพื้นที่ราว 33 กิโลเมตร) ไปพัฒนาต่อ ซึ่งมีแร่สำคัญที่ใช้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง ทองแดง อยู่ถึง 6.28 ล้านตัน และ 3.1 ล้านตันในโคบอลต์ (รัฐบาลคองโกถือหุ้นอยู่ที่ 5% เท่านั้น) ที่จริงแล้ว China Molybdenum ได้ซื้อหุ้นจำนวน 56% ในรอบแรกไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว เพราะตอนนั้นเจ้าของเดิมต้องการลดหนี้ ก่อนที่ทางบริษัทยักษ์จากจีนจะเพิ่มการถือหุ้นเป็น 80% ในปี 2019

ขณะที่บริษัทจากจีนอีกบริษัทอย่าง Huayou Cobalt ก็เป็นเจ้าของหรือมีหุ้นอยู่ในเหมืองของคองโกอย่างน้อย 3 แห่ง และบริษัทนี้ก็ถือเป็นผู้เล่นคนสำคัญในทุกสเต็ปของห่วงโซ่อุปทานของโคบอลต์ จากเหมืองแร่ โรงกลั่น ผู้นำแบตเตอรี่ และกระบวนการผลิตเป็นวัสดุขั้วแคโทด (cathode production)

นอกจากนี้ทั้ง 2 บริษัท Huayou Cobalt และ CMOC ก็มีการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องที่อินโดนีเซียในแร่อย่าง ‘นิเกิล’ ตั้งแต่กระบวนการสกัดแร่และการดำเนินการในด้านต่าง ๆ โดยแร่เกิลเป็นอีกวัตถุดิบที่สำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งว่ากันว่าคิดเป็นต้นทุนของแบตเตอรี่มากถึง 40% เลยทีเดียว (โครงการในอินโดนีเซียนี้ทาง Huayou Cobalt ลงไปทุนไปก่อนแล้ว และทาง CMOC เข้ามาขอเป็นพันธมิตรด้วยที่หลัง)

โดยกำลังการผลิตในอินโดนีเซียของการร่วมทุนครั้งนี้จะผลิตแร่นิเกิลและโคบอลต์รวมกันมากถึง 60,000 ตันต่อปี โดยอินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแร่นิเกิลมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่ที่ราว 72 ล้านตัน และนั่นทำให้จีนตอนนี้กลายเป็นผู้ผลิตแร่นิเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย “จีนจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญเพราะ พวกเขาจะเชื่อมต่อกับตลาดในประเทศของพวกเขา แถมยังส่งออกแร่นิเกิลในราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับยุโรป” คุณ Pius Ginting ซึ่งเป็น Executive director of Action for Ecology and People’s Emancipation (AEER) กล่าว ขณะที่ตอนนี้ทางรัฐบาลคองโกกำลังจะมีการทบทวนสัญญาเหมืองครั้งใหญ่รวมมูลค่ากว่า 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ให้กับความเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของจีนเหนือเหมือง Sicomines ในปี 2007

ขณะที่ในยุโรปก็เช่นกัน หลายบริษัทเริ่มเติบโตบนการนำของจีน โดยจบทศวรรษนี้ภาคพื้นทวีปยุโรปถูกคาดว่าจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 28 โรงงาน พร้อมกับความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,440% เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในปี 2020 ข้อมูลจาก Darton Commodities โดยบริษัทที่น่าจะเป็นหัวหอกในการเติบโตบนภาคพื้นทวีปยุโรปก็คือ Britishvolt ของสหราชอาณาจักร และ Northvolt AB เป็นผู้พัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ของสวีเดน รวมไปถึงบริษัทในเอเชียที่มีโรงงานผลิตในยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนฝากยุโรปในธุรกิจเหมือง ผู้นำการผลิตแบตเตอรี่ และวัตถุดิบหลักอย่าง แคโทด (Cathode Material) จะไม่เร่งตัวรวดเร็วมากนัก โดยคุณ Andries Gerbens จาก Darton Commodities มองว่า “สุดท้ายแล้วจีนจะมีอิทธิพลน้อยลง แต่ก็จะยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ต่อไปเช่นเดิม”

เมื่อเทียบกับยุโรปว่าช้าแล้ว เจอสหรัฐอเมริกาเข้าไปยังช้ายิ่งกว่า เพราะการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐนั้นถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับจีน และที่สำคัญเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมเท่านั้นด้วยเงินประมาณ 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการงบลงทุนรวม 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทางคุณ Simon Moores ซึ่งเป็น CEO ของ Benchmark Mineral Intelligence ได้บอกกับทาง สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2021 ว่า “จีนกำลังสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่มากต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ 1 โรงงานต่อสี่เดือน” นอกจากนี้เขาได้ย้ำว่า เศรษฐกิจแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนโลก บนความทะเยอทะยานใด ๆ ในการเป็นผู้นำของสหรัฐนั้นล้าหลังจีนและยุโรปมาก

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/businessplusonline/posts/4902511863151344/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210