ชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ จากวิศวกรรม 0.4 มาสู่วิศวกรรม 4.0

Loading

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวให้ทันต่อกระแสดิสรัปต์ ฝีมืออย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีวิสัยทัศน์และเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ชาญยุทธ ฉายาวัฒนะ Director & Deputy Chief Executive Officer (Technical) บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิศวกรตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับวิศวกรรุ่นใหม่ ด้วยวิถีการปรับตัวจากโลกยุคเก่าสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างน่าเรียนรู้

เขาเกิดมาในช่วงปลายยุค Baby Boomer (2489-2507) เป็นเด็กชนบท จึงได้สัมผัสรสชาติของชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่เล่นเป่ากบ ตี่จับ เป่าขลุ่ย เลี้ยงควาย ไถนา ทอดแหหาปลา ปลูกผัก ถากหญ้า หาบน้ำ ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ เป็นลูกมือพ่อก่อสร้างบ้าน ฯลฯ ช่วงที่เรียนมัธยมก็ยังไม่มีเครื่องคิดเลขใช้ ต้องฝึกคิดในใจ และท่องสูตรคูณให้ชำนาญ การสื่อสารต้องใช้จดหมาย หรือโทรเลข กระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาร่ำเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

เมื่อเข้ามาเรียนที่คณะวิศวฯ เริ่มมีเครื่องคิดเลขใช้ ไม่ต้องชักสไลด์รูลเหมือนรุ่นพี่ยุคก่อนๆ เครื่องคิดเลขยอดฮิตคือคาสิโอ (เป็นเครื่องมือในการเล่น Random ด้วย) ได้มีโอกาสเรียนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้ภาษาฟอร์แทรน ซึ่งต้องใช้บัตรกระดาษที่เจาะในการป้อนข้อมูลคำสั่ง และต้องไปเข้าคิวรันโปรแกรมที่ตึกคอมพิวเตอร์ข้างหอพัก ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน ตำรับตำราที่ใช้ประกอบการเรียน (Text Book) ก็มีราคาแพง หนังสือในห้องสมุดส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างเก่า

“พวกเราต้องอาศัยตำราที่ถ่ายเอกสารเป็นหลัก” คุณชาญยุทธ ย้อนอดีต

จากวันนั้นเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เทคโนโลยีด้านต่างๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร จากโทรศัพท์มีสาย เปลี่ยนมาเป็นแบบไร้สาย มีเพจเจอร์ไว้ส่งข้อความ จากระบบ 1G มาเป็น 2G 3G 4G และ 5G ในปัจจุบัน เขาสัมผัสมาหมด

หนึ่งในหลักการการปรับตัวของเขาก็คือ…การเปิดใจ

“เราต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ยอมรับในความไม่รู้และพร้อมที่จะขวนขวายให้รู้ เพื่อเข้าใจในสิ่งนั้นๆ”

คุณชาญยุทธถือเป็นหนึ่งในวิศวกรผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคแรก เป็นหนึ่งในฟันเฟืองผลักดันให้บริษัทปิโตรเคมียุคนั้นก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทระดับโลก ผ่านยุคสมัยจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสามารถขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติได้ โรงงานมีการนำเอาหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น มีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมากๆ เพื่อนำมาต่อยอดในธุรกิจต่างๆ การทำธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีธุรกิจแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย บางส่วนก็มาแทนธุรกิจเดิม

“อาชีพวิศวกรรมเป็นอาชีพที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา แค่เราอยู่เฉยๆ คู่แข่งก็แซงหน้า วันนี้เวียดนามพยายามก้าวขึ้นมาเคียงคู่กับเรา ถ้าเราไม่ปรับตัวในอนาคตเขาก็จะแซงหน้าเราไปจนไม่เห็นฝุ่น การเรียนรู้สาขาวิชาต่างๆ ในปัจจุบันนี้มีช่องทางมากขึ้น วิศวกรเครื่องกลอาจจะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมด้านมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าและระบบควบคุม เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกำลังจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบควบคุมต่างๆ ที่มีมากขึ้นในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ วิศวกรจึงจำเป็นต้องรู้กว้างและรู้ลึก”

คุณชาญยุทธ์กล่าวพร้อมกับขยายภาพให้เห็นชัดๆ ว่า

“ตัวอย่างเช่นวิศวกรระบบการผลิตอัตโนมัติ ที่ต้องรู้และเข้าใจทั้งเครื่องกล ไฟฟ้า กระบวนการผลิต ระบบการวัดและควบคุม รวมทั้งต้องลงมือทำ (Learning by Doing) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆได้ดีขึ้น และช่วยสร้างความเชี่ยวชาญให้มากขึ้น (Multi Skill) ต้องหมั่นเรียนรู้ ปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งหากัลยาณมิตรหลากหลายสาขาไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ดังคำพูดที่ว่า ยิ่งให้ ยิ่งได้”

พร้อมกับทิ้งท้ายข้อคิดไว้อย่างคมกริบว่า

“รู้ปริยัติ มากด้วยทฤษฎี

ฝึกปฏิบัติ ให้มีทักษะมากมาย

ได้วิชาชีพไว้ใช้เลี้ยงกาย

สุดท้าย ปฏิเวธ บรรลุธรรม”

ด้วยการเปิดกว้างทางความคิด เป็นกัลยาณมิตรที่ดีกับทุกคน ขวนขวายเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่เขาจะก้าวข้ามจากวิศวกรรม 0.4 มาสู่วิศวกรรม 4.0 ได้อย่างภาคภูมิ เป็นหนึ่งในวิศวกรผู้พัฒนาพลังงานสะอาดสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลกใบนี้

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/02/22/chanyuth-chayawattana/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210