รับรู้ศักยภาพ “จังหวัดจันทบุรี” จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย ที่เป็นไปได้ของ EEC+1

Loading

หลายคนอาจทราบแค่เพียงว่า จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก ที่ได้ชื่อว่าเป็น เมืองแห่งผลไม้ และมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก ไปเยี่ยมเยือนกี่ครั้งก็ไม่มีเบื่อ ทว่า ในทางเศรษฐกิจ จังหวัดจันทบุรี มีผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2561 (การสำรวจล่าสุด) เท่ากับ 120,157 ล้านบาท มีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของภาคตะวันออก และเป็นอันดับที่ 22 ของประเทศ

ส่วนอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2561 ขยายตัวถึงร้อยละ 0.7 ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว (GPP Per Capita) มีมูลค่า 217,393 บาท/คน/ปี สูงเป็นอันดับที่ 15 จากทั้งหมด 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย

มาในปีนี้ แม้เศรษฐกิจไทยและทั่วโลก จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหน่วง เศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี ก็ไม่รอดจากวิกฤตนี้เช่นกัน ทว่า จากการสำรวจของ สำนักงานคลังจังหวัดจันทบุรี กรมบัญชีกลาง ในช่วงปี 2563 ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรี อยู่ในเกณฑ์ดี 73.0

โดยเฉพาะสถานการณ์โดยรวมจากผลสำรวจภาคการเกษตร ที่อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ (61.1) เพราะในตอนนี้ผลผลิตทางการเกษตรหลัก ทุเรียน มังคุด ลองกอง ทยอยออกมาแล้ว ประกอบกับพืชเศรษฐกิจอื่นอย่างลำไย และกล้วย ก็เป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวแล้ว จึงส่งผลดีต่อภาคเกษตรโดยรวมให้มีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี (75.0)  ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร

นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี อัตราการเติบโตด้านอื่น ทั้งในด้าน แนวโน้มภาคเกษตรภาพรวมก็เพิ่มขึ้น 76.4 แนวโน้มการจ้างงานภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 77.8 แนวโน้มการลงทุนภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 78.6

แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีตามข้อมูลที่กล่าวมานี้ ยิ่งทำให้สปอตไลต์ฉายมายัง จังหวัดจันทบุรี และเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดที่ว่า ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รวบรวมเอา 3 จังหวัดภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ควรต้องมีการผนวกเอา จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากมายนี้เข้าไปด้วย ตามแนวคิด EEC+1

โดยแนวคิดนี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่นักศึกษา กลุ่มพานิชภิเษก จาก หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์  (Top Executive Program in Commerce and Trade : TEPCOT) รุ่นที่ 13 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำมาเสนอและชี้ให้เห็นทั้งความเป็นไปได้และความท้าทายที่เกิดขึ้นบนเส้นทางของการทำให้ จังหวัดจันทบุรี ไปอยู่ใน EEC+1

ทั้งนี้ ในการเก็บข้อมูลนั้น อาศัยทั้งการค้นคว้าข้อมูลทางสถิติเพื่อมายืนยันถึง ศักยภาพของจังหวัดจันทบุรี และการลงพื้นที่จริงไปยังเมืองจันท์ เพื่อพูดคุยกับผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ เจ้าของสวนผลไม้ และหอการค้าจังหวัด โดยข้อมูลที่ได้มาล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ ถ้าต้องการส่งเสริมเกิดการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีให้โดดเด่นยิ่งขึ้นกว่านี้

EEC +1 ทำไมต้องเป็น “จังหวัดจันทบุรี”

ดังที่เกริ่นมาแล้วข้างต้นว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรี อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งสอดคล้องกับ อัตราการเติบโตของภาคตะวันออก ที่จากการสำรวจล่าสุดในปี 2561 พบว่ามี GPP Per Capita หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศกว่า 500,676 บาท ซึ่งสูงกว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มี อยู่ที่ GPP Per Capita อยู่ที่ 449,881 บาท

กัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาชิกกลุ่มพานิชภิเษก ได้เป็นตัวแทนกลุ่มกล่าวถึงแนวคิด EEC+1 ว่า

“แนวคิด EEC+1 นี้ต่อยอดมาจากที่ทางหลักสูตรฯ ได้เชิญ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มาบรรยายในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีและการพัฒนาโครงการอีอีซีในภาพรวม เมื่อ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทางหลักสูตรฯก็ได้พาไปดูงานที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ซึ่งในโอกาสนี้ก็ได้รับฟัง ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC ที่มาบรรยายในเรื่องแผนการพัฒนาบุคลากรในเขตพื้นที่อีอีซี

“นอกจากนั้น ยังมีโอกาสไปรับฟังบรรยายสรุปจากผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากการเปิดรับองค์ความรู้ทั้งหมดนี้ ทำให้เราได้รับรู้ว่าศักยภาพของ อีอีซี มีมากอย่างล้นเหลือ และในตอนนี้เมกะโปรเจ็คต์ทั้งหลายก็รวมอยู่ที่อีอีซี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกเข้าไปพื้นที่ของโครงการอีอีซี ครอบคลุมแค่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แต่เรามองว่าศักยภาพของพื้นที่ในภาคตะวันออก หรือ โครงการอีอีซี ยังสามารถพัฒนาต่อไปจากนี้ได้อีกมาก”

“เพราะในภาคตะวันออกยังมีจังหวัดที่เป็นเพชรเม็ดงาม สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาลซ่อนอยู่ นั่นคือ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีจุดเด่นหลากหลาย ทั้งอยู่ติดกับพื้นที่ EEC และไม่ไกลจากกรุงเทพ แค่ 245 กิโลเมตร ขับรถ 3 ชั่วโมงครึ่งก็ถึง ส่วนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้จังหวัดนี้อย่างมากคือ อุตสาหกรรมการผลิตผลไม้และผลไม้แปรรูป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอัญมณี เป็นต้น”

“โดยเฉพาะ อัญมณี ที่หลายคนยังไม่ทราบว่า อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณี ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยจุดเด่นของการผลิตอัญมณี คือ การใช้คนน้อยมาก และที่จันทบุรีนี้เอง ที่เป็นแหล่งทำพลอยเกรดพรีเมียมของไทยมาอย่างยาวนาน”

“ส่วนอุตสาหกรรมเกษตร ใครๆก็ทราบดีว่า จันทบุรีเป็นเมืองผลไม้ ดังนั้น การผลิตผลไม้ที่เมืองจันท์ จึงมีความโดดเด่นและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่นี่และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้จังหวัดนี้สูงมาก โดยผลไม้มาแรง ก็ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด ลองกอง และเงาะ”

“และจากการลงพื้นที่ ไปพูดคุยกับโรงงานแปรรูปผลไม้ขนาดใหญ่ที่จังหวัดจันทบุรี ก็ได้ทราบเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้ที่นี่ ก็เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้ภาคเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งตรงตามเทรนด์การทำธุรกิจที่มาแรงในตอนนี้ นั่นคือ BCG Model หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่

  • เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
  • เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
  • เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ด้วยข้อมูลทั้งมดที่กล่าวมา ทำให้เราได้เห็นว่า การนำเสนอแนวคิด EEC+1 Model นั้น มีความเป็นไปได้ แต่ปัญหาของจังหวัดจันทบุรีที่เจอ คือ ภาครัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร เพราะยังเป็นงบประมาณระดับจังหวัดทั่วไปเหมือนทุกจังหวัดทั่วไทย ทั้งที่ศักยภาพเศรษฐกิจที่ชี้วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดนั้นสามารถขึ้นไปอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศแล้ว ทำให้บุคลากรภาครัฐและภาคแรงงานที่อยู่ในจังหวัดนี้ไม่สามารถยกระดับตัวเองได้ ในระดับที่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคต”

“ดังนั้น กลุ่มของเราจึงมองว่า ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปเท่ากับว่าเราจะเสียเพชรเม็ดงาม ที่สมควรจะเติบโตไปได้มากกว่านี้ แม้ว่าตอนนี้หลายฝ่ายมองว่าคนจันทบุรีอยู่ได้ แต่เราเชื่อว่าถ้าได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมและถูกทาง จังหวัดจันทบุรี ยังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้แน่นอน”

ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการทุกระดับของ จังหวัดจันทบุรี ต่อแนวทางการพัฒนา EEC+1

และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางกลุ่มพาณิชภิเษก ได้จัดทริปลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อพูดคุยและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตใน 2 ภาคอุตสาหกรรมหลัก ที่มีศักยภาพสูงมากของเมืองจันท์ นั่นคือ อุตสาหกรรมผลิตผลไม้และแปรรูปผลไม้ กับ อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณี หรือ “พลอยเมืองจันท์”

โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้รับฟังแนวคิดดีๆจากผู้ประกอบการตัวจริงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ต่อความเป็นไปได้ของแนวคิด EEC+1

บริษัท เอม ไทย อินเตอร์เทรด (2001) จำกัด

เริ่มจาก ทศพร เทศสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอม ไทย อินเตอร์เทรด (2001) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ขนาดใหญ่ ที่ผลิตผลไม้แปรรูปหลากรูปแบบส่งขายทั้งในประเทศและส่งออกไปขายในต่างประเทศ

“บริษัทของเราก่อตั้งเมื่อปี 2542 พัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปและผลไม้สดเพื่อการส่งออก ร่วมกับเกษตรกรในแบบ Contact farming โดยบริษัทมีฟาร์มของตัวเอง ผลิตวัตถุดิบไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปอุดหนุนวัตถุดิบจากเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยได้พัฒนาการปลูกผักออแกนิกส์และมีรายได้เพิ่มขึ้น

“วิกฤตโควิดที่ผ่านมา นับว่าช่วยสร้างโอกาสให้ประเทศไทย เพราะเมื่อไทยควบคุมโควิดได้ คนทั่วโลกสนใจ คนไทยกินอะไร จึงมีสุขภาพดี อุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปอาหารไทยจึงบูม ซึ่งการสร้างแบรนด์ Product of Thailand และแนวคิด Farm to table จะเป็นตัวชูโรงหลักที่นำมาเป็นธีมในการโปรโมตจุดเด่นและสร้างมูลค่าให้สินค้าไทยได้”

“เพราะข้อได้เปรียบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เพราะ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลไม้ไทย เป็นเหมือนแบรนด์รับรองคุณภาพผลไม้ที่เป็น Product of Thailand อีกระดับหนึ่ง”

“ภาครัฐจึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์ Product of Thailand โดยหาเวทีเพิ่มให้บรรดาเกษตรกร เจ้าของกิจการ SME วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ทำให้สินค้าของพวกเขาเป็นที่รู้จัก”

“แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการจะผนวกเอา จันทบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ EEC ควรมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนก่อน ด้วยการแยกประเภทก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตของเกษตรกรที่นี่”

“เนื่องจากที่ผ่านมาชาวสวนเมืองจันท์มีศักยภาพสูงกว่าเกษตรกรทั่วไป เพราะทำเกษตรแล้วที่ได้รับผลตอบแทนต่อไร่ที่สูงมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำสวนทุเรียน ที่ผ่านมา เมื่อจบฤดูกาลผลไม้ เกษตรกรจันทบุรี เป็นจังหวัดเดียวที่คืนเงินกู้ ธกส. ได้ทั้งหมด”

“EEC +1 จึงเกิดขึ้นได้ ในรูปแบบของ Hybrid ไฮบริด ที่มีขอบข่ายชัดเจน จะให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมใดต้องชัดเจน แนะนำให้แบ่งเป็นคลัสเตอร์ เช่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และถ้าเกิด EEC+1 จริง จะเกิดประโยชน์กับ 3 ภาคส่วนในจันทบุรี นั่นคือ หนึ่ง ภาคการท่องเที่ยว สอง อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่เป็นพรีเมียมเกรด ซึ่งต้องมีวัตถุดิบ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นของพื้นที่ และสาม เกษตรกรที่ต้องการยกระดับการปลูกและการผลิตผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นออแกนิกส์”

สำหรับการดำเนินกิจการของ บริษัท เอม ไทย อินเตอร์เทรด (2001) จำกัด ผศ.ดร.สุรพงษ์ พินิจกลาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพานิชภิเษก ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

“กิจการของ บริษัท เอมไทย อินเตอร์เทรด จำกัด มีนัยสำคัญ ไม่ใช่แค่การประกอบธุรกิจธรรมดา แต่อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูปนี้ยังตอบโจทย์ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน ที่เกิดขึ้นในสังคม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรได้ เพราะเป็นกิจการที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งหมดที่นำมาแปรรูป ในรูปแบบของ Contact farming มาแปรรูป เมื่อขายให้กับโรงงานได้ก็ย่อมได้ต้นทุนและกำไรมาหล่อเลี่ยงให้ธุรกิจของเกษตรกร ซึ่งหลายรายอยู่ในระดับ SME ให้อยู่รอดได้ด้วย”

บริษัท สยามโปรฟรุตส์ จำกัด

ต่อมา เป็น การพูดคุยกับ เดือนรุ่ง เบญจมาศ กรรมการ บริษัท สยามโปรฟรุตส์ จำกัด โรงงานผลิตน้ำมังคุดสกัดเข้มข้น และน้ำมังคุดพร้อมดื่ม รับจ้างผลิตน้ำมังคุดในแบบ OEM ในตอนนี้ สยามโปรฟรุตส์ ผลิตน้ำมังคุดสกัดเข้มข้นให้กับแบรนด์ชั้นนำที่ขายในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 80 แบรนด์

“ที่มาของการเปิดโรงงานทำน้ำมังคุดครั้งนี้เกิดมาจากตนเองเป็นอาจารย์ด้าน Food science และได้ร่วมทำวิจัยกับหน่วยงานและคณะอาจารย์ ทำให้เรารู้ว่าน้ำมังคุดมีคุณสมบัติที่ดีมาก และตลาดทั่วโลกมีความต้องการสูง”

“โดยเฉพาะที่น้ำมังคุดมีสารแซนโทน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ให้ทำงานเป็นปกติ กอปรกับเล็งเห็นความได้เปรียบที่เราอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี แหล่งปลูกผลไม้หลักของประเทศ โดยเฉพาะมังคุด ที่มีผลผลิตสูงที่สุดเป็นลำดับต้นๆของประเทศ แต่ที่นี่เกษตรกรก็ยังประสบปัญหาผลผลิตที่ออกมามากจนล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา จึงคิดว่าการแปรรูปเป็นทางออกที่ดีในการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย”

“ที่โรงงานของเราจะเน้นผลิตในแบบ OEM ไม่มีทีมขาย แต่มีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมาตรฐานและระบบการผลิตที่มีคุณภาพ รองรับการผลิตในแบบ OEM”

จากความตั้งใจดีนี้ ทำให้ในปัจจุบัน สยามโปรฟรุตส์ เป็นชื่อที่ติดตลาด เรียกว่า น้ำมังคุด ที่วางจำหน่ายอยู่ในตอนนี้มีไม่น้อยที่ผลิตโดยสยามโปรฟรุตส์ ทำให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจ ที่บ่งบอกว่าพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการสร้างธุรกิจอย่างแท้จริง โดย ผศ.ดร.สุรพงษ์ ได้กล่าวหลังจากศึกษาดูงานที่นี่ว่า

“คุณเดือนรุ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นเจ้าของบริษัท สยามโปรฟรุตส์ แล้ว ยังเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Food Science จึงทราบถึงแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำมังคุดสูตรเฉพาะของทางบริษัท จนสามารถจดสิทธิบัตร น้ำมังคุด ที่เป็นสูตรของตัวเอง นี่เป็นตัวอย่างความชาญฉลาดในฐานะผู้ประกอบการที่นำองค์ความรู้ แนวคิดนวัตกรรมมาปรับใช้สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างน่าชื่นชม”

Expert Gems Manufacturing

มาถึง อุตสาหกรรมการผลิตอัญมณี ในเมืองจันท์ ที่ ธงศักดิ์ จินตการฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ Expert Gems Manufacturing ได้มาบอกเล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์การทำพลอยที่นี่ ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานเกือบร้อยปี

“ภูมิปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเผาพลอย ที่เผาแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามสีของพลอย และต้องใช้วิธีการสังเกตที่ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมา โดยสังเกต จากสีที่เปลี่ยนไป เส้นสายในเม็ดพลอย ใช้ประสาทสัมผัสหรือมองด้วยตาก็ได้ตามความชำนาญและเทคนิคของแต่ละคน”

“ตลาดค้าพลอยที่จันทบุรี ค้าพลอยกันมา 60 ปีแล้ว ไม่มีวันหยุด เป็นแหล่งรวมของ ผู้ค้าพลอยหลากหลายชาติ มากที่สุด คือชาวอินเดีย และมี ชาวจีน ชาวตะวันตก ชาวไต้หวัน ญี่ปุ่น กัมพูชา ตามลำดับ ตลาดค้าพลอยจันทบุรี จึงไม่ได้มีแค่คนจันทบุรีที่นำพลอยมาขาย แต่ตลาดที่นี่ ได้ชื่อว่า เป็น free trade area ที่ดังในระดับโลก”

“นอกจากนั้น ธุรกิจค้าพลอยที่นี่ เราอยู่ได้เพราะความเป็น Unique คืองานเครื่องประดับจากพลอย ในแต่ละแบบ มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทำซ้ำกันเป็น Mass เหมือนแบรนด์ต่างชาติ”

“และต่อไปในอนาคต อาจมีทางเลือกในการใช้หุ่นยนต์ เข้ามาเจียระไนพลอย แต่แน่นอนว่าราคาต้องถูกกว่างานพลอยที่คนเจียระไนอยู่แล้ว แค่เป็นทางเลือกให้ลูกค้าเท่านั้น”

“รัฐบาล ควรมีบทบาทที่จะสนับสนุนกิจการพลอยไทยให้มากกว่านี้ อย่างที่เราเคยเห็นเวลาไปทัวร์ต่างประเทศ ที่มีการจัดทัวร์ให้มาที่ร้านของรัฐบาล ร้านที่รัฐบาลสนับสนุน โมเดลนี้ควรนำมาทำที่เมืองไทยบ้าง ก็จะช่วยเหลือกิจการค้าพลอยของไทยได้

“นอกจากนั้น ควรมีการทำ สตอรี่เทลลิ่ง Story telling ของพลอยเมืองจันท์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเรื่องราวให้กับพลอยจันทบุรีให้มากกว่านี้”

สวนทุเรียน สมาร์ทฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี

ก่อนจบวัน เราได้มาเยี่ยมชม ต้นแบบ สวนทุเรียนเมืองจันท์ ของ พลอากาศเอกมนัส วงษ์วาท และคุณวิไลภรณ์ วงษ์วาท ที่มีการบริหารจัดการในแบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการปรับเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการลดปัญหาและเพิ่มมูลค่าให้การทำสวนทุเรียนอย่างแท้จริง

“มีความตั้งใจสร้างสวนทุเรียนแห่งนี้ให้เป็นสมาร์ทฟาร์ม โดยปรับเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เครื่องมือในการวัดค่าแสงแดงและวัดความชื้นในอากาศมาใช้ รวมถึงการปิด เปิด น้ำอัตโนมัติ ผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นต้นแบบของการลดการใช้แรงงานได้จริง”

“สวนของเราได้จัดทำระบบ QR code ติดที่ต้นทุเรียนทุกต้น เมื่อยิงที่ QR Code จะรู้ทันทีว่าทุเรียนมีอายุกี่วัน พร้อมเก็บผลเมื่อไร ไม่ต้องใช้วิธีการเคาะเหมือนเดิม ซึ่งเป็นระบบที่ทางสวนสามารถรับประกันคุณภาพทุเรียนให้กับลูกค้าที่ซื้อทุเรียนจากทางสวนไป ว่าจะได้ทุเรียนคุณภาพไปจริงๆ”

หอการค้าจังหวัดจันทบุรี

นอกจากนั้น ยังได้พูดคุยเพิ่มเติมกับ ชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ทำให้เราได้ตอกย้ำว่าแนวคิด EEC+1 คู่ควรกับจันทบุรีในแง่มุมใดบ้าง

“จันทบุรีมีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น อัญมณี มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จันทบุรีสามารถสร้างรายได้มาก”

“และที่สำคัญ คือ ภาคการผลิตผลไม้และผลไม้แปรรูป ที่มีสัดส่วนเป็น GDP ของจังหวัด ปริมาณผลไม้ที่ส่งออกจากจันทบุรี มีปริมาณมากถึง 1 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ผลไม้ที่สร้างรายได้หลัก ก็คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด ลองกอง เงาะ”

“ศักยภาพของจังหวัดจันทบุรี มีความสำคัญในระดับประเทศ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือในพื้นที่ EEC จังหวัดจันทบุรีไม่ได้รับการประกาศให้อยู่ในพื้นที่นี้ด้วย”

“แต่เป็นที่น่าตกใจว่า จังหวัดจันทบุรี กลับได้รับงบประมาณในการอัดฉีด พัฒนา เศรษฐกิจของจังหวัด น้อยมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ เป็นเรื่องที่แปลกว่าทำไมภาครัฐถึงมองข้ามจังหวัดจันทบุรีไป โดยเฉพาะการยกระดับพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงมากอย่าง ทุเรียน มังคุด และลำไย หรือแม้กระทั่งอัญมณีที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับโลกไปแล้ว”

“ดังนั้น มองว่า การผลักดันให้เกิด EEC+1 เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะพัฒนาให้โครงการ EEC เข้ามามีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรีให้เติบโตและมีศักยภาพไปมากขึ้นกว่านี้ได้”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/04/03/chantaburi-eec1-model/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210