‘การลาออกครั้งใหญ่’ ปี 2021 กลุ่มที่ลาออกมากสุดเป็นคนอายุ 40+

Loading

ช่วงต้นของการระบาดของโควิด-19 ในโลกตะวันตกเมื่อปี 2020 มีปรากฏการณ์ชื่อ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ (The Great Resignation) เป็นปรากฏการณ์ที่คนทำงานจำนวนมากแห่กันลาออกจากงาน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าจะส่งผลกระทบต่อโลกมากมายถึงเพียงนี้

กลุ่มคนที่ลาออกในช่วงปี 2020 ค่อนข้างชัดว่าเป็นกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ คนเหล่านี้มักทำงานที่ได้ค่าตอบแทนน้อย และมีความเสี่ยงสูง เช่นงานบริการต่างๆ ที่ไม่สามารถทำงานที่บ้าน หรือ work from home ได้ ยังคงต้องออกมาทำงานทั้งที่โควิดระบาดหนัก ว่ากันว่าคนกลุ่มนี้เห็นสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของตัวเองแล้วรู้สึกทนไม่ไหว มองว่าโลกไม่เห็นความสำคัญของชีวิตของพวกเขา สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออก ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวแบบนี้ยิ่งตอกย้ำประโยคที่คนพูดกันมาตลอดในช่วงหลังว่า ‘คนรุ่นใหม่ไม่สู้งาน’

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เหรอ?

ผลสำรวจล่าสุดจากสหรัฐอเมริกาพบว่า แม้ปี 2021 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ ‘ลาออกครั้งใหญ่’ จะยังไม่จบลง แต่กลุ่มคนที่ลาออกกลับเป็นกลุ่มที่มีช่วงอายุมากขึ้น และช่วงปีที่ผ่านมากลุ่มคนลาออกที่มากที่สุดไม่ใช่กลุ่มคนอายุน้อย (ต่ำกว่า 30 ปี) แต่เป็นกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเห็นชัดว่าคนอายุต่ำกว่า 30 ปีลาออกน้อยลงมาก แต่คนอายุ 40 ปีขึ้นไปกลับลาออกกันรัวๆ แถมคนกลุ่มนี้ยังมีหน้าที่การงานดีด้วย เป็นผู้บริหารระดับกลางไม่ใช่เป็นแรงงานระดับล่างแบบพวกคนรุ่นใหม่ที่แห่กันลาออกช่วงปี 2020

คำถามคือ ทำไมคนที่ทำงานมาเป็น 10 ปี ตำแหน่งสูง หน้าที่การงานดีถึงลาออกในยุคที่วัคซีนก็มีแล้ว หรือเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมั่นคงขึ้น? คำตอบชัดๆ คือไม่ใช่

แต่สิ่งที่เขาวิเคราะห์กันก็คือ อาจเป็นเพราะคนรุ่นนี้เริ่ม ‘มองเห็นความตาย’ ชัดขึ้น ในอเมริกาคนตายจากโควิดเยอะมาก เรียกได้ว่าวัยกลางคนทุกคนที่มีสังคมต้องมี ‘คนรู้จัก’ สักคนตายเพราะโควิด

ภาวะเช่นนี้สะท้อนว่า ชีวิตนั้นสั้นและเปราะบางมาก มันน่าจะทำให้หลายคนกลับมาถามตัวเองว่า “นี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่?’ ทำไมไม่ใช้ชีวิตให้คุ้ม” นำมาสู่การขยับขยายชีวิต อันเป็นผลให้ลาออกจากงาน พูดง่ายๆ โควิดทำให้ ‘คนวัยกลางคน’ ก้าวออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ ในที่สุด

ในแง่หนึ่ง เราต้องไม่ลืมว่าคนวัยนี้มีหน้าที่การงานดี แนวโน้มประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นโควิดคือ ก็ต้องเวิร์คฟอร์มโฮมกันยาวๆ ซึ่งการทำงานแบบนี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจมาก ทำให้เครียดขึ้น อีกด้านหนึ่งการที่มีเวลาว่างมากขึ้นก็ไม่ได้แค่ทำให้เครียด แต่มันทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว หรือเวลาพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ในชีวิตน้อยลง ไม่แปลกเลยที่ทำให้คนมันว่างถึงขนาด ‘คิดลาออก’ จากที่เมื่อก่อนต้องเดินทางและง่วนอยู่กับทำงานตลอดจนไม่มีเวลาคิด

ถามว่าคนพวกนี้ไม่ห่วงอนาคตเลยเหรอ? ก็คงไม่ใช่

เพราะแม้มีการประเมินว่าจะเกิดมรสุมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามมาหลังโควิด แต่ถ้าไปดูประกาศรับสมัครงาน ก็จะเห็นเลยว่าการรับตำแหน่งระดับสูงๆ นั้นมีเปิดเยอะมาก ดังนั้นตลาดแรงงานยังต้องการคนกลุ่มนี้อยู่ และก็ไม่แปลกที่พวกเขาไม่กลัวการออกจากงาน เพราะตลาดแรงงานแบบนี้ พวกเขาจะกลับไปทำงานเมื่อไหร่ก็ได้

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/posts/3332266827098846/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210