5 ข้อจำขึ้นใจ ถ้าไม่อยากให้ ‘รถจมน้ำ’ ช่วงน้ำท่วมถล่มเมือง

Loading

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าใครหลายคนต้องได้เห็นภาพ รถจมน้ำ ที่จอดเรียงรายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากฝนตกกระหน่ำ จนเกิดน้ำทะลักเข้าไปท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแบบไม่คาดคิดและไม่มีใครเตรียมใจ เตรียมความพร้อม ใดๆ ไว้ก่อนเลย และจนถึงวันนี้ก็ยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ วันนี้เราจึงมีเทคนิคการดูแลรถ ทั้งเพื่อป้องกัน รถจมน้ำ และเพื่อนำไปปรับใช้ดูแลรถตลอดหน้าฝนนี้

แชร์ 5 ข้อ ควรรู้ เพื่อป้องกัน รถจมน้ำ และดูแลรถให้ปลอดภัยตลอดช่วงหน้าฝนนี้

ล่าสุด เพจ Facebook : Mahidol Channel ได้แชร์เรื่องราวน่ารู้สำหรับคนรักรถและเจ้าของรถทั้งหลาย ให้ได้นำไปปรับใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย รถจมน้ำ เหมือนเจ้าของรถที่ทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู รวมถึงยังมีตำราการดูแลรถในหน้าฝนฉบับคนรักรถ มาฝากจาก ผศ.ดร.สราวุธ เวชกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย โดยแบ่งเป็น 5 เรื่องควรรู้ ดังนี้

หนึ่ง : หมั่นสังเกตระดับน้ำ

สิ่งแรกที่ควรรู้ คือ ระดับความสูงของน้ำซึ่งต้องประเมินว่ามีความสูงมากน้อยแค่ไหน โดยปกติแล้วจะแบ่งน้ำท่วมออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. น้ำท่วมแบบน้ำไหล หรือที่เรียกว่า “น้ำหลาก” กรณีที่พบน้ำหลาก ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำจะมีความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือหยุดรถ แล้วกลับบ้านทันที ไม่ควรเดินทางต่อไปโดยเด็ดขาด เพราะความแรงของกระแสน้ำหลากจะสามารถพารถให้พลัดตกถนนได้
  2. น้ำท่วมแบบอยู่นิ่งๆ กรณีที่ระดับน้ำสูงกว่า 30 เซนติเมตร หรือเกินครึ่งล้อรถยนต์ น้ำมีโอกาสจะเข้าไปในตัวรถ โดยผ่านทางขอบประตู กรณียางขอบประตูเสื่อม ซึ่งอาจเกิดกรณีที่เราไม่รู้ตัว

หรือน้ำอาจเข้าสู่ตัวเครื่องยนต์ผ่านทางท่อไอดี โดยเฉพาะรถยนต์สมัยใหม่ที่อาจมีทางเข้าของอากาศอยู่ต่ำ หรืออีกช่องทางหนึ่งคือเข้าผ่านทางท่อไอเสีย ซึ่งอาจจะจมหรือแช่อยู่ในน้ำ โดยน้ำอาจจะเข้าทางท่อไอเสียกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของรอบเครื่องยนต์อย่างกระทันหัน

ที่สำคัญหากมีรถคันอื่นลุยน้ำอยู่ด้วยกันในระดับนี้ คลื่นน้ำที่เกิดจากรถคันอื่นอาจสร้างแรงกระแทกกับรถของเรา ทำให้รถเสียหลักได้ ดังนั้น โปรดหลีกเลี่ยงเคลื่อนย้ายรถในช่วงนี้

สอง : สิ่งที่ควรทำ ถ้าจำเป็นต้องขับรถลุยน้ำ

ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีความจำเป็นต้องลุยน้ำ สิ่งที่ควรทำมีดังต่อไปนี้

ขั้นแรก “ปิดแอร์” : เพราะหากเปิดแอร์ไว้ ใบพัดที่อยู่หน้าเครื่องยนต์จะเพิ่มความถี่ในการทำงาน ทำให้มีโอกาสตีน้ำขึ้นมาในห้องเครื่องยนต์ได้ หรืออาจตีเศษไม้ เศษใบไม้ขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายให้กับเครื่องยนต์

ขั้นที่สอง “เล็งระยะ” : ในระหว่างการขับรถ ควรเว้นระยะให้ห่างจากรถคันหน้าให้มีความเหมาะสม ยิ่งระยะห่างมากเท่าไรจะส่งผลดีมากเท่านั้น เพราะเมื่อน้ำท่วม ประสิทธิภาพในการเบรกจะด้อยลงด้วย

เนื่องจากระหว่างที่ขับรถผ่านน้ำท่วมอยู่นั้นเบรกจะอยู่ใต้น้ำ แม้ว่าจะมีแรงต้านจากน้ำ แต่จะยังมีความรู้สึกว่าเบรกไม่ค่อยอยู่ นอกจากนี้ระยะห่างกับคันหน้าจะทำให้สามารถรักษาความเร็วให้คงที่ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปได้

ขั้นที่สาม “ใช้ความเร็วคงที่” : การใช้ความเร็วคงที่ คือ ต้องขับรถโดยใช้เกียร์ต่ำ ประมาณเกียร์ 1-2 แล้วรักษารอบเครื่องยนต์ไว้ที่ประมาณ 1,500-2,000 รอบ เพราะหากต่ำกว่านี้ เครื่องอาจสะดุดและมีโอกาสที่จะดับโดยที่เราไม่รู้สาเหตุ รวมถึงเครื่องยนต์ดับด้วยตัวของเครื่องยนต์เอง ดับเพราะไฟฟ้าช็อต หรือดับเพราะมีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์

กรณีดังกล่าวสามารถเกิดขั้นได้ หากรอบเครื่องยนต์สูงกว่านี้ความเร็วก็จะสูงขึ้นเช่นกันโดยจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการเร่งและเบรกบ่อยครั้ง ส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรอบเครื่องยนต์อย่างกระทันหัน เพิ่มโอกาสที่น้ำจะเข้าเครื่องยนต์

อีกทั้งความเร็วที่สูงขึ้นอาจก่อให้เกิดคลื่นน้ำที่สามารถสร้างแรงกระแทกกับรถยนต์คันอื่นและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

ส่วนข้อห้ามอีกอย่างที่ต้องงจำไว้ให้ขึ้นใจ คือ “อย่าเปลี่ยนเกียร์ในขณะขับรถผ่านน้ำท่วม” เพราะการเปลี่ยนเกียร์จะทำให้รอบของเครื่องยนต์เปลี่ยน ซึ่งมีโอกาสทำให้น้ำเข้าสู่เครื่องยนต์ได้เช่นกัน

สาม : “ห้ามสตาร์ทเด็ดขาด” เมื่อรถดับตอนน้ำท่วม

หากขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์เกิดดับ เชื่อว่าหลายคนเลือกที่จะสตาร์ทเครื่องยนต์เพราะต้องการรีบเดินทางกลับบ้าน การสตาร์ทเครื่องยนต์ถือเป็นสิ่งที่ “ไม่ควรทำอย่างยิ่ง” เนื่องจากเราไม่ทราบว่าสาเหตุของเครื่องยนต์ที่ดับอย่างแท้จริง

กรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือการที่น้ำถูกดูดเข้าเครื่องยนต์ไปแล้ว เมื่อสตาร์ท น้ำจะเข้าไปอยู่ในตัวเครื่องยนต์ จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ไฮโดรล็อก” ซึ่งส่งผลทำให้เครื่องยนต์ไม่ทำงาน ยิ่งสตาร์ท อาจทำให้เครื่องยนต์มีโอกาสพังได้

สิ่งเดียวที่ควรทำคือ ต้องรีบหาทางออกจากรถแล้วเข็นรถเข้าข้างทาง หรือขอความช่วยเหลือเพื่อหารถลากไปที่ศูนย์บริการ

สี่ : เทคนิคการเช็กรถ หลังลุยน้ำท่วม

หลังจากที่รถลุยน้ำมาแล้วต้องทำการตรวจเช็กสภาพรถตามจุดสำคัญดังต่อไปนี้

เช็กเบรก หลังจากเบรกแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ อาจส่งผลทำให้ระยะเบรกเสีย โดยมีวิธีการเช็กง่ายๆ คือ ให้ทดลองขับรถแล้วเหยียบเบรก คนขับจะรู้สึกได้ว่าเบรกเริ่มกลับมาเป็นสภาพปกติแล้ว

เช็กเครื่องยนต์ เราสามารถลองสังเกตเสียงของเครื่องยนต์ว่ามีความปกติหรือไม่ มีการสั่น สะดุด หรือมีสิ่งแตกต่างจากที่เราขับโดยปกติหรือเปล่า หากไม่เข้าใจว่าเป็นเสียงอะไร ก็ไม่ควรเสี่ยงขับต่อ

เช็กระบบไฟ เช็กการทำงานของไฟเลี้ยว ไฟส่องสว่างหน้า ว่าสามารถใช้งานได้เป็นปกติหรือไม่

เช็กล้อรถ เนื่องจากระหว่างที่รถแช่น้ำซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยางจะไปอยู่ในน้ำมานานๆ เราอาจไม่รู้ว่าเจออะไรมาบ้าง ลองสังเกตดูว่า มีตะปู หรือสิ่งผิดปกติ มาทิ่ม ตำ หรือทำความเสียหายให้กับล้อรถหรือไม่

ทำความสะอาดภายในและภายนอกรถ ตรวจดูสภาพของรถว่ามีเศษใบไม้ กิ่งไม้ อยู่ในห้องเครื่องยนต์ หรือตามจุดต่างๆ ของตัวรถหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบภายในตัวรถเพราะอาจมีน้ำซึมเข้ามาในตัวรถได้ เป็นการถือโอกาสตรวจสอบสิ่งเล็ดลอดที่เข้ามาในห้องโดยสารด้วย

ห้า : ถ้ารถแช่น้ำสูงกว่าล้อ ควรเข้าศูนย์ฯตรวจเช็กเครื่องยนต์

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วรถแช่น้ำ โดยสังเกตว่าปริมาณน้ำสูงกว่าล้อรถ ข้อแนะนำคือ “ให้นำรถนำเข้าศูนย์บริการ” พยายามอย่าเช็กเอง เพราะเราไม่แน่ใจว่าจะเกิดความเสียหายในส่วนใดของรถบ้าง

ส่วนในกรณีที่น้ำกำลังจะมาแล้วมีความจำเป็นต้องจอดรถไว้ที่บ้าน สิ่งที่ควรทำคือ แนะนำให้ถอดแบตเตอรี่ออกก่อน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่จะมีระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ระบบไฟฟ้าทำงานตลอดเวลา ถ้าเราสามารถถอดแบตเตอรี่ออกได้ จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดจากการช็อตของระบบไฟฟ้าได้

ต่อมาคือควรหนุนรถให้สูง ซึ่งให้หากหนุนทั้ง 4 ล้อไม่ได้ก็ให้หนุนล้อหน้า 2 ล้อในฝั่งที่มีเครื่องยนต์ เพื่อยกระดับของเครื่องยนต์ให้พ้นจากน้ำให้มากที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/01/5-tips-for-protect-car-in-flood/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210