เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการลงทุนหลังโควิด

Loading

เมื่อเอ่ยถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรามักนึกถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการลงทุน มีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก การขยายท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ หรือโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

แม้ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 การลงทุน 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC คือ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ก็ยังมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 2.08 แสนล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งประเทศ

นั่นทำให้ “อีอีซี” กลายเป็นต้นแบบการลงทุนในรูปแบบเขตพัฒนาพิเศษ และนำมาสู่แนวคิดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าบริการเพื่อสุขภาพ พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ผสานวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงการท่องเที่ยว

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC – Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central – Western Economic Corridor: CWEC) ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่เชื่อมโยงกับกรุงเทพและพื้นที่โดยรอบ และ EEC

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้า ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง แปรรูปปาล์มน้ำมันและยางพาราขั้นสูง อาหารทะเลปลอดภัย รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ผ่าน VDO Conference พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ ประสานการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมทั้งให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการพัฒนาดังกล่าว

ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน 4 ภาค โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ เพื่อนำเสนอ กพศ.พิจารณาต่อไป

“ห้วงเวลานี้เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องชัดเจน ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว เพื่อรองรับหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะคณะกรรมการ กพศ. จะต้องเป็นหลักในการที่จะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะตัดสินใจในการอนุมัติแผนงาน/โครงการและการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมถึงภารกิจ พันธกิจ และการบูรการ Agenda เหล่านี้ ทุกกระทรวงต้องช่วยกันขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่ก่อนขยายเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมทั้ง BOI ต้องมีการปรับกฎ ระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดึงคนที่มีศักยภาพ Talent คนสูงอายุที่มีกำลังทรัพย์ และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการพิจารณาในเรื่องของ Free Zone เช่นเดียวกับหลายประเทศได้ดำเนินการอยู่ นำมาสู่การสร้างงาน อาชีพ รายได้ ให้กับคนไทยทุกภาคของประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคถือเป็นกลไกด้านการลงทุนที่น่าจับตามอง ด้วยความหวังว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจในท้องถิ่น เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม มากกว่าการเปิดช่องให้ธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจข้ามชาตินำความเจริญเข้าไปแลกกับการกอบโกยทรัพยากรจนในที่สุดคนท้องถิ่นไม่เหลืออะไรเลย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/05/23/thailand-4-zones-economic-corridor/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210